เครื่องตรวจจับความเร็วแบบเลเซอร์ ฝีมือคนไทย ราคาถูกกว่านำเข้า 5 เท่า

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย และภูมิภาคอาเซียน คิดเป็นอัตราส่วน 32.1 รายต่อแสนประชากร ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในระยะยาว เนื่องจากต้องสูญเสียบุคลากรที่เป็นแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้เรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมรณรงค์และกวดขันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจราจร โดยเฉพาะความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะ ที่ถือเป็นปัจจัยหลักของการสร้างวินัยด้านการจราจรของคนไทย

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือการตรวจจับความเร็วของยานพาหนะที่ใช้อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีราคาสูง ทำให้ “พ.ต.ท.ภูริตพัชร์ นันทสิทธิ์อังกูร” สารวัตรกลุ่มงานวิจัยประเมินผล 3 กองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะ เริ่มต้น “โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจจับความเร็วของรถยนต์ด้วยแสงเลเซอร์” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อสร้างนวัตกรรมของคนไทยที่เป็นมาตรฐานสากลนำมาสู่การลดอัตราความสูญเสียลงได้

พ.ต.ท.ภูริตพัชร์ นันทสิทธิ์อังกูร เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัยว่า มาจากกระแสข่าวของสื่อมวลชน ที่รายงานถึงการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัดความเร็วของหน่วยงานราชการบางแห่งที่สูงมาก ประกอบกับ การใช้งานเครื่องตรวจวัดความเร็วของเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องใช้เป็นประจำทั้งในส่วนของระดับนครบาลและภูมิภาค จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน เสนอโครงการวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย

โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นจากการประกอบชิ้นส่วน มีตัวปล่อยรังสี หัววัดตรวจจับความเร็ว และจุดกำเนิดแสงเลเซอร์ ที่เป็นการผลิตภายในประเทศไทย เพราะไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ก็มีชิ้นส่วนบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย พร้อมๆกับการนำเครื่องตรวจวัดที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ของหน่วยงานราชการอื่นเข้ามาถอดชิ้นส่วน เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบไปด้วยกัน เป็นเสมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องลองผิดลองถูก เมื่ออุปกรณ์ต้นแบบแล้วเสร็จ จึงได้เริ่มการทดลองร่วมกับ สถาบันมาตรวัดวิทยาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือระดับประเทศ เพื่อทดสอบเครื่องตรวจจับความเร็วที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในห้องทดลอง จนได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนที่มีมาตรฐานระดับโลก เข้าร่วมทดสอบการตรวจจับความเร็วในสนามจริง ซึ่งผลการทดสอบถือว่าดีตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ทั้งสองแห่ง โดยขณะนี้มีเครื่องตรวจจับความเร็วต้นแบบทั้งหมด 3-5 เครื่อง และได้นำมาใช้งานจริงที่ กองบังคับการตำรวจจราจร กับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง แล้ว

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ได้รับการให้ความสนใจจากบริษัทเอกชน 2 บริษัท ที่ต้องการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยชิ้นนี้ไปพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ในการตรวจจับความเร็วที่เป็นของคนไทยทั้งหมด ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการพัฒนาช่วงเดือนเมษายนนี้ ส่วนผลตอบรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้งานถือว่าดีมาก เพราะมีเครื่องมือเข้ามาช่วยตรวจจับความเร็ว และสร้างความปลอดภัยในท้องถนนได้มากขึ้น ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ และยังช่วยประหยัดงบประมาณได้มากอีกด้วย

“เครื่องตรวจจับความเร็วจากต่างประเทศ หากตรวจสอบข้อมูลการตลาด ราคากลางอยู่ที่เครื่องละประมาณ 300,000 บาท แต่ราคาจัดซื้อสำหรับหน่วยงานราชการบางแห่งจะอยู่ที่เกือบ 500,000 บาท แต่หากเป็นเครื่องมือที่เราคิดค้นขึ้นมา ราคาจะอยู่ที่เครื่องละ 80,000-100,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าถึง 5 เท่า” พ.ต.ท.ภูริตพัชร์ กล่าว

RANDOM

error: Content is protected !!