ทำความรู้จัก Home School คืออย่างไร เรียนแบบไหน ? (2)

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

วันนี้ Station Thai จะมาพูดคุยกันต่อถึงการเรียนการสอน แบบ Home School ว่ามีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร และการประเมินผล อย่างไรบ้าง

การเรียนการสอน แบบ Home School เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอน อันได้แก่ รูปแบบการจัดการศึกษา หลักสูตร และการประเมินผล ดังนี้

1. รูปแบบการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ได้มีการจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีทั้งที่เป็นการจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือทั้งสามรูปแบบผสมผสานกัน ในสังคมส่วนใหญ่มีลักษณะผสมผสาน ค่อนไปในการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้ เป็นไปตามรูปแบบการจัดการศึกษาที่แต่ละครอบครัวเลือก กล่าวคือ

1.1 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบการศึกษาในระบบ จะมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาการศึกษา การวัดประเมินผลตามเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

1.2 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบนอกระบบ มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดประเมินผล อย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละครอบครัว

1.3 ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาตามอัธยาศัย การกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดประเมินผล ยิ่งมีความยืดหยุ่น และมีอิสระมากขึ้น เป็นไปตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์

2. หลักสูตร
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว กำหนดหลักการ และความมุ่งหมายการจัดสาระการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของผู้เรียน การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ จึงมีความยืดหยุ่น การดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่ไปกับ หลักสูตรโรงเรียนสาธิต โรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ โดยยืดหยุ่นเป็นไปตามความพร้อมและความสนใจของลูกเป็นสำคัญ

ต่อมา ได้มีการพัฒนา ด้วยการสร้างหลักสูตรของครอบครัว มีการกำหนดกรอบกว้างๆ ที่เป็นความตกลงและเตรียมการร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก โดยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ หรือกระบวนการเรียนรู้หลายๆ สาย ผสมผสานกัน ที่สามารถหล่อหลอมคุณลักษณะการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าตัวความรู้ ให้ใฝ่รักการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ให้สามารถสร้างเสริมความรู้ได้ตลอดชีวิต มากกว่าความรู้อย่างเป็นส่วนๆ

การเรียนรู้ของครอบครัวเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสภาพการณ์ อย่างเป็นธรรมชาติ แทรกซึมในวิถีชีวิต การเรียนรู้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก

หลักสูตร Home School มีลักษณะ ดังนี้

– ขอบเขตเนื้อหาวิชาไม่ต่างจากหลักสูตรปกติ

– ข้อแตกต่างอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น

– มีการจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย

– มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ

– มีการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมเครือข่ายพ่อแม่ Home School

3. การประเมินผล

การประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการ ดังนี้

1. ครอบครัวที่ลูกอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ นำชื่อลูกไปฝากไว้กับโรงเรียน โรงเรียนได้ดำเนินการวัดผล ประเมินผล มีการสอบเลื่อนระดับชั้นร่วมกับนักเรียนของโรงเรียน สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการเข้าสอบไล่ และใช้ข้อสอบเดียวกับโรงเรียน

2. ครอบครัวที่ลูกโตกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ใช้วิธีการเข้ากลุ่มเรียนเสริม และสอบเทียบกับการศึกษานอกระบบ ของ กรมการศึกษานอกโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการประเมินผลของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีหลักคิดที่สำคัญ ดังนี้

– มุ่งพัฒนาการของเด็กอย่างแท้จริง

– ใหัความสำคัญกับพัฒนาการเป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กได้ค้นพบวิถีทางพัฒนาตัวเอง

– เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการประเมินผลตัวเองด้วย

– ให้ความสำคัญในการประเมินจากสภาพจริง มากกว่าการสอบ การใช้แบบทดสอบ

– มีความต่อเนื่องเห็นตลอดทั้งกระบวนการ มากกว่าเพียงชิ้นงานที่เป็นผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย

– มีความหลากหลายในวิธีการ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตามหลักที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้ และสามารถใช้เป็นประจักษ์พยานแสดงผลของการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น

– การสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด และมีสัมผัสความเป็นพ่อแม่ เป็นวิธีการที่เป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นจริง และได้ผลมากที่สุด ของการประเมินพัฒนาการของลูกภายในครอบครัว

หลักฐานแสดงผลการศึกษา

การจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีหลักฐานที่แสดงผลการศึกษาของเด็กที่เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

– สมุดบันทึก และแฟ้มสะสมงานของพ่อแม่ แสดงปัญหา การแก้ปัญหา การพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล

– แฟ้มสะสมงานของลูก ในทุกประสบการณ์การเรียนรู้ และเนื้อหาความรู้

– สมุดบันทึกของลูก เช่น บันทึกส่วนตัว (ทัศนะ ประสบการณ์ใหม่ เจตจำนง) บันทึกแหล่งเรียนรู้ (จากการเดินทาง ทัศนศึกษา) สมุดภาพ

– ผลงานที่นำเสนอในการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงาน ทั้งโดยบุคคล และโดยกลุ่ม

แนวทางการดำเนินงาน

ครอบครัวที่ตัดสินใจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับลูก จะต้องนำชื่อลูกไปจดทะเบียนกับโรงเรียนที่ยินดีรับ  ทั้งนี้ ด้วยพระราชบัญญัติการประถมศึกษา ได้ระบุว่า เด็กอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้าโรงเรียน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เด็กทุกคนที่มีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ จึงต้องมีชื่ออยู่ในโรงเรียน การจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นสิทธิที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ แต่สิทธิที่ได้รับนี้จะต้องมีกฎกระทรวงรองรับ ดังนั้น ในช่วงที่กฎกระทรวงยังไม่มีผลบังคับใช้ การดำเนินงานจึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับระเบียบ กฎ ต่างๆ ที่ใช้บังคับอยู่

การที่เด็กขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน ก็ต้องมีความตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว ในเรื่องการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดประเมินผล รวมทั้ง หลักฐานการเรียนที่จำเป็น

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

 

RANDOM

วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ทุนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) เรียนฟรี มีเงินเดือน รับสมัครถึง 13 มี.ค. 66

NEWS

สำนักงาน ป.ป.ช. เชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดบทความวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 185,000 บาท ส่งบทความได้ ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 14 พ.ค. 2567

error: Content is protected !!