“เด็กจมน้ำ” ภัยเงียบที่ไม่อาจมองข้าม สาเหตุคร่าชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ วิธีคลายร้อนที่เด็ก ๆ หลายคนชื่นชอบ คือ การเล่นน้ำ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งคู คลอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ รวมถึงบ่อน้ำที่เกษตรกรขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรต่าง ๆ  และด้วยความเยาว์วัยและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ๆ สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียที่พบเห็นได้ตามหน้าสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง ซึ่ง Station Thai ขอเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ความรู้และการช่วยเหลือเด็ก ๆ ในกรณีที่เกิดการจมน้ำ เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด

จากการเฝ้าระวังของ กรมควบคุมโรค ข้อมูลในช่วง 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2553 – 2562) พบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 8,394 ราย เฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และเด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง

และจากข้อมูลระบบรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ของ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำของเด็ก ในปี 2564 จำนวน 232 เหตุการณ์ พบว่า ขณะเด็กจมน้ำ เด็กจะอยู่กับผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กถึง ร้อยละ 35.9 ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนั้น ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กกำลังประกอบอาชีพ (ร้อยละ 50) และหลังจากช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วมีการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ผิดวิธีด้วยการอุ้มพาดบ่ามากถึงร้อยละ 27.6

ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในปี 63 จนถึงปัจจุบัน ได้รับรายงานเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต 34 เหตุการณ์ จาก 20 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.4 แหล่งน้ำที่เกิดเหตุสูงสุด ได้แก่ ทะเล, บ่อน้ำ/สระสาธารณะ, แหล่งน้ำคู/หนอง/คลองธรรมชาติ อย่างละ 6 เหตุการณ์ และแม่น้ำ, สระขุด/บ่อน้ำขุด, คลองส่งน้ำ/คลองชลประทานเพื่อการเกษตร อย่างละ 3 เหตุการณ์ เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาเด็กจมน้ำในเบื้องต้นสำหรับชุมชน ควรดำเนินการ ดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน เฝ้าระวังและแจ้งเตือน เช่น ประกาศเสียงตามสาย ตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 2.จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน และให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า และไม้ เป็นต้น 3.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่า หรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ชูชีพ  4.มีสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือ เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  โยน คือ โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลาย ๆ ชิ้น และ ยื่น คือ ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับ และดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กขณะเล่นน้ำเป็นพิเศษ หากเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีอุ้มพาดบ่าแล้วกระแทก เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียเนื่องจากคนจมน้ำจะอาเจียนและอาจสำลักน้ำ มีผลทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น ควรโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทันที

ทั้งนี้ เมื่อพบเห็นเหตุการณ์คนจมน้ำ วิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้องให้ปฏิบัติ ดังนี้

1) โทรศัพท์แจ้งทีมแพทย์กู้ชีพที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด

2) จับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบ แห้ง และแข็ง พร้อมตรวจดูว่า คนจมน้ำรู้สึกตัวหรือไม่ หากรู้สึกตัวให้เช็ดตัวให้แห้ง ห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล แต่หากไม่รู้สึกตัว ให้ช่วยหายใจโดยการเป่าปาก 2 ครั้ง และกดหน้าอก 30 ครั้ง โดยกดให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที ทำสลับกันไปจนกว่าคนจมน้ำจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง หรือจนกว่ารถทีมแพทย์กู้ชีพจะมาถึง และนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!