“แก้วน้ำกันสำลัก” นวัตกรรมจุฬาฯ ตัวช่วยผู้สูงวัยและผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ กลืนง่าย ไม่สำลัก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
แพทย์จุฬาฯ ออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก คำนวณมุมการไหลของน้ำ ปริมาณ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วถึงริมผีปากผู้ป่วย หวังลดอัตราการสำลัก ที่อาจนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ให้ผู้ดูแลสบายใจ ผู้ป่วยปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต
.
“สำลัก” ปัญหาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น การลำลักในผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยโรคดังกล่าว อาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ในที่สุด ปัญหาการสำลักจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรมองข้าม
.
“เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการกลืนยาก และสำลักง่ายมาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินช้า ๆ ดื่มช้า ๆ ก้มคอแล้วค่อยกลืนอย่างมีสมาธิ และหมั่นฝึกกล้ามเนื้อคอเป็นประจำ ฟังดูเหมือนง่าย แต่มีผู้ป่วยไม่ถึงครึ่งที่สามารถทำได้ เพราะเรามักกินดื่มแบบที่เราเคยชิน จนเสี่ยงเกิดการสำลักตามมาบ่อย ๆ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สะท้อนปัญหาการสำลักในผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคระบบประสาท
.
“ในเมื่อผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินยาก เราจึงหาวิธีอื่นเพื่อช่วยควบคู่กันไป โดยศึกษาจากพฤติกรรมการดื่มน้ำปกติ เมื่อน้ำไหลมาแตะริมผีปาก เราจะเงยคอขึ้น มาเป็นฐานในการพัฒนาแก้วน้ำกันสำลัก”
.
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้พัฒนา “แก้วน้ำกันสำลัก” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย โดยออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดื่มน้ำ กลืนน้ำ ในขณะที่หลอดอาหารอยู่ในตำแหน่งที่ดี และหลอดลมปิดอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลัก
.
แก้วน้ำกันสำลัก ผลิตด้วยวัสดุประเภทเดียวกับขวดนมของเด็กทารก ดีไซน์ให้เหมือนแก้วน้ำปกติทั่วไป และใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากดื่มน้ำมากขึ้น
.
.
แม้ภายนอกจะดูไม่แตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป แต่ภายในมีกลไกพิเศษเพื่อกันการสำลัก ที่ทีมวิจัยได้ศึกษาและคำนวณอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมุมการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้ว มาถึงริมผีปากผู้ใช้งานที่เหมาะสม
.
“แก้วน้ำนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดื่มน้ำได้ โดยไม่ต้องเงยคอ เพราะการที่ผู้สูงวัยไม่ต้องเงยคอ จะช่วยลดการสำลักลงได้มาก และที่สำคัญ แก้วน้ำกันสำลักนี้ สามารถควบคุมปริมาณน้ำต่อการดื่มแต่ละครั้งให้ไม่มากจนเกินไป  และกำหนดเวลาในการดื่มให้ไม่เร็วเกินไปได้ ด้วยปริมาณการดื่มที่เหมาะสม มุมที่เหมาะสม ท่าดื่มที่เหมาะสม เวลาดื่มที่ไม่เร็วจนเกินไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือ ผู้ป่วยสำลักน้อยลง”
.
นอกจากนี้ แก้วน้ำกันสำลักยังมีดีไซน์พิเศษ เพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย หูของแก้วน้ำมีลักษณะนูนขึ้นมา เพื่อช่วยคนไข้พาร์กินสันที่มีภาวะเกร็งกำมือได้ไม่สุด สามารถจับแก้วน้ำได้ถนัด มั่นคง และมั่นใจในการดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น
.
.
ปัจจุบัน แก้วน้ำกันสำลัก ยังเป็นต้นแบบ (Prototype) ที่ผ่านการวิจัยขั้นแรก และกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยทดสอบ (Testing) กับผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ทั้งคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล และคนไข้ที่นำแก้วน้ำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการติดเครื่องเซนเซอร์จับพฤติกรรมขณะดื่มน้ำไว้
.
“เราต้องการรู้ว่าเมื่อผู้ใช้ได้ดื่มน้ำผ่านแก้วน้ำนี้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีแพทย์ หรือ พยาบาลคอยควบคุมดูแล แก้วน้ำนี้จะสามารถลดการสำลักได้ในระดับใด โดยจะประมวลผลการใช้งานจริงทั้งหมดนี้ นำมาพัฒนาดีไซน์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แล้วจึงต่อยอดการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป”
.
นอกจากพัฒนาการใช้งานแล้ว ในขั้นตอนการทดสอบนี้ ทีมวิจัยจะได้แก้ไขข้อจำกัดบางอย่างด้วย โดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาด เนื่องจากดีไซน์ของแก้วน้ำมีลักษณะเป็นชิ้นเดียว ภายในแก้วน้ำถูกออกแบบให้มีตัวกั้นน้ำ มีมุมลาดเอียงที่คำนวณการปริมาณไหลของน้ำไว้ จึงอาจทำให้ทำความสะอาดยากตามซอกมุมเหล่านี้
.
“ที่สุดแล้ว ทีมวิจัยหวังว่า “แก้วน้ำกันสำลัก” ที่เราตั้งใจออกแบบและพัฒนา จะช่วยผู้ใช้ให้สามารถกินอาหาร 3 มื้อต่อวันได้อย่างมีความสุข ดื่มน้ำได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะสำลัก” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
.
.
สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวิจัยแก้วน้ำกันสำลัก สามารถติดต่อได้ที่  ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย ตึก ผู้สูงอายุ หรือ ตึก สธ. ชั้น 7 โทร. 02-256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร. 02-256-4000 ต่อ 70704  โทรศัพท์มือถือ 081-107-9999 เว็บไซต์ www.chulapd.org

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!