ศธ. MOU หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พัฒนาการศึกษา จ.สระแก้ว ทั้งระบบ ภายใต้รูปแบบ SAKAEO Model

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานจังหวัดสระแก้ว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต โดยมี นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายสุทิน แก้วพนา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมชั้น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว จ.สระแก้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว ในรูปแบบ SAKAEO Model ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการเป้าหมาย และความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ และเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาภายใต้บริบทของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ในลักษณะ Active Learning และสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการติดตาม และประเมินผลของความสำเร็จ

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของการศึกษา แต่ละพื้นที่จะมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงอยากให้จ.สระแก้ว เป็นโมเดลที่สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ วันนี้นอกจากหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ เรายังได้ลงนามความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นที่แรกที่ได้มาทำ MOU กับจังหวัดสระแก้ว เพื่อมาช่วยกันดูแลเรื่องของการศึกษา อย่าง จ.สระแก้ว จะมีเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งได้มีการทำ SWOT Analysis ว่าจุดอ่อนจุดแข็งคืออะไร และเราจะแก้ปัญหาตรงจุดไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ การพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับสมรรถนะ โดยแต่ละจังหวัดจะมีบริบทไม่เหมือนกัน มีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่จะรู้ปัญหาได้ดีกว่าและรู้ว่าจังหวัดตัวเองต้องการจะพัฒนาอะไร ทางส่วนกลางก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างตรงจุด

ทางด้าน นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะตัวของสระแก้ว คือ มีพื้นที่ชายแดน จะมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำนวนมาก และในพื้นที่ชายแดนมีเด็กต่างชาติอยู่ด้วย หากเราแยกเด็กต่างชาติออกไป จะเห็นว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ที่ครูสอนจะอ่านออกเขียนได้เกือบทั้งหมด แต่ในภาพรวมเมื่อนับจำนวนเด็กในโรงเรียนแบบเป็นตัวเลข จะเห็นว่ายังมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่พอสมควร ซึ่งข้อเท็จจริงคือเป็นเด็กต่างชาติที่เข้ามาเรียน อย่างเช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งการจัดการการศึกษาของสระแก้วมีหลากหลาย มีทั้งโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนของตชด. โรงเรียนเอกชน รวมถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยสระแก้วตั้งเป้าว่าผลการศึกษาจะต้องอยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะวัดด้วย NT หรือวิธีใดก็ตามที่เป็นมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ นี่คือเป้าหมายสำคัญของจังหวัดสระแก้ว


ขณะที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของ จ.สระแก้ว ด้วยเทคนิค SWOT ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก พบว่า จุดอ่อนด้านปัจจัยการบริหาร การสอนและคุณภาพผู้เรียน และด้านเทคโนโลยี พบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำกว่าระดับประเทศ ผู้เรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโอกาสเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปมีน้อย การจัดการศึกษาสายอาชีพไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้นักเรียนเดินทางไกล ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เรียน อีกทั้งขาดการบูรณาการฐานข้อมูล ความเชื่อมโยง Big Data และขาดเครื่องมือการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้เรียน

จากปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจ.สระแก้ว โดยร่วมกันออกแบบแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบ SAKAEO Model ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนา 6 ขั้นตอน และทุกขั้นตอนใช้กระบวนการ PDCA ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 S : SWOT Analysis การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียน
ขั้นตอนที่ 2 A : Assignment กำหนดผู้ร่วมรับผิดชอบและสร้างข้อตกลงร่วมกันจากทุกสังกัดการศึกษาจังหวัดสระแก้ว
ขั้นตอนที่ 3 K : Knowledge sharing การสร้างองค์ความรู้ แบ่งปันความรู้และวางแผนพัฒนา การยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจังหวัดสระแก้วร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 4 A : Action การลงมือปฏิบัติตามแผนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 5 E : Evaluation การนิเทศก์กำกับติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิดร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 6 O : Optimum goals เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาร่วมกัน

“ทั้งนี้ ขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาดังกล่าวได้มีการจัดทำประกาศจังหวัดสระแก้ว เรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วในรูปแบบ SAKAEO Mode ให้หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดสระแก้วได้นำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!