ศธ.-สพฐ. เปิดศูนย์ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” จ.ราชบุรี

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” โดยมี นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี คุณครูและนักเรียน เข้าร่วมในพิธี ณ โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จังหวัดราชบุรี

ศูนย์ MOE Safety Center ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จึงเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการรับแจ้งข่าวสารที่จะเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ และของน้อง ๆ ในสถานศึกษา นอกเหนือจากช่องทางการแจ้งข่าวสารอื่น ๆ ที่มีอยู่ โดยเรามีแอปพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาผ่านโทรศัพท์มือถือของทุกท่านได้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับทราบความเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงและความรุนแรง แก้ไขได้ถึงแหล่งต้นตอของปัญหา มีการติดตามความคืบหน้า มีความเป็นธรรม และโปร่งใสกับทุกฝ่าย รวมถึงจะมีการรายงานและติดตามการแก้ไขปัญหาได้แบบทันท่วงที หรือ แบบ Real-time ที่สำคัญทุกข้อมูลที่ได้รับ จะเก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนเพื่อขยายผลในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

“ดิฉัน เชื่อมั่นว่า วันนี้เด็กและเยาวชนในจังหวัดราชบุรี จะได้รับการดูแล สอดส่อง เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัยในชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พ้นจากภัยยาเสพติด ศูนย์ MOE Safety Center นับเป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันเพื่อเดินหน้าและสร้าง “สถานศึกษาปลอดภัย นักเรียน นักศึกษาอุ่นใจ” เราต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้เด็กตั้งแต่ก่อนที่เด็กคนแรกจะมาถึงโรงเรียน จนกระทั่งเด็กคนสุดท้ายออกจากบริเวณโรงเรียน เราต้องทำให้ผู้ปกครองและทุกภาคส่วนเกิดความมั่นใจและเกิดความพึงพอใจ ซึ่งนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการศึกษาได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับการดำเนินงานในช่วงนี้เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนที่ตรงกัน จากที่เปิดโครงการนี้ 4 จังหวัด พบว่าสถานศึกษามีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น มีเรื่องที่ได้รับร้องเรียนมาในระบบประมาณ 100 กว่าเรื่อง และได้มีการเคลียร์เรื่องไปได้เหลือประมาณ 20 เรื่อง ซึ่งเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรังแกกัน (Bully) และได้มีการประสานงานเพื่อแก้ไขให้เรื่องคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า การจัดโครงการสร้างการรับรู้ และเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยสถานศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าถึงความปลอดภัยในทุกมิติและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน โดยมีมาตรการในการดำเนินงาน 3 ทาง คือ ป้องกัน ปลูกฝัง และการปราบปราม เพื่อให้นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความสบายใจและความมั่นใจต่อสถานศึกษาว่าสามารถดูแลนักเรียนให้มีความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง ดังนั้น สพฐ. จึงได้สร้างระบบดูแลความปลอดภัยที่จะเป็นช่องทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการ ความปลอดภัยในสถานศึกษา และเชื่อมโยงกับศูนย์ความปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการ

อีกทั้ง สพฐ. ได้จัดอบรมครูและบุคลากร และทดสอบความรู้ความเข้าใจการนำแอปพลิเคชันมาใช้ในการดำเนินงาน โดยการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดภัย ได้รับความร่วมมือจาก 8 กระทรวง 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา โดยเริ่มจากสถานศึกษา ชุมชน และขยายวงไปสู่ผู้คนในสังคม ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้แก่พื้นที่และเป็นความร่วมมือในการพัฒนาประเทศให้กลายเป็นประเทศที่มีความสุขและน่าอยู่ในโอกาสต่อไป

“ทั้งนี้ การจัดงานกิจกรรมสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยในสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ 4 ภูมิภาค 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเชียงราย จังหวัดราชบุรี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งการจัดงานที่จังหวัดราชบุรีในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ในส่วนของกิจกรรมวันนี้จะมีการทำภาพยนตร์สั้นสะท้อนเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในสถานศึกษาที่ทำให้นักเรียนไม่ปลอดภัย รวมไปถึงตัวอย่างของปัญหาที่สามารถใช้แอปพลิเคชันของ MOE Safety Center ในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย และร่วมกิจกรรมสาธิตมาตรการความปลอดภัยเรื่องยาเสพติดด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

RANDOM

สอศ. จับมือ ศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย (KEC ) และ ศูนย์ระบบอนุญาตการจ้างงาน (EPS) กระทรวงการจ้างงานและแรงงาน เปิดสอนภาษาเกาหลีในสถานศึกษา เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบถูกกฎหมาย

error: Content is protected !!