ก.พ. เปิดรับสมัครสอบชิงทุน ‘ทุนรัฐบาลดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงฯ’ ประจำปี 2567 จำนวน 18 ทุน ผู้สนใจสมัครทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 7 ธ.ค. 66

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ ประจำปี 2567

1. ทุนที่รับสมัครสอบ จำนวน 17 หน่วย รวม 18 ทุน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 (หน่วยที่ 6751001 – 6751016) จำนวน 17 ทุน
– กลุ่มที่ 2 (หน่วยที่ 6751017) จำนวน 1 ทุน

2. กำหนดช่วงเวลาการให้ทุน แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาในชั้นปีสุดท้ายจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ตามโครงสร้างหลักสูตร ทั้งนี้ ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี
ระยะที่ 2 ให้ทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหรือต่างประเทศ สำหรับประเทศที่จะให้ไปศึกษากำหนดตามกรอบประเทศและเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด กรณีประสงค์จะไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 20 ปีล่าสุด หรือ ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 20 ปีล่าสุดในสาขาวิชา (By Subject) ที่ผู้รับทุนจะไปศึกษา ซึ่งเป็นการจัดอันดับ โดยสถาบันการจัดอันดับการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานเป็นสากล ทั้งนี้ กรณีประเทศที่จะให้ไปศึกษา นอกเหนือจากที่กำหนด จะต้องเป็นประเทศที่มีสถาบันการศึกษามีความโดดเด่นทางวิชาการในสาขาวิชานั้น โดยภายหลังสำเร็จการศึกษาต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการเดิมที่ได้รับการบรรจุ

3. ข้อผูกพันในการรับทุน

3.1 เมื่อสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาให้ทุนระยะที่ 1 ผู้ได้รับทุนจะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนด เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน
3.2 กรณีผู้ได้รับทุนประสงค์จะเปลี่ยนหน่วยงานปฏิบัติราชการชดใช้ทุน จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนดมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุน และ ก.พ. ให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
3.3 กรณีที่ผู้ได้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน ก.พ. นอกจากจะต้องชดใช้เงินทุนที่ได้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น ยังจะต้องชดใช้เงินอีก 2 เท่าของจำนวนเงินทุนดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับอีกด้วย
3.4 ในระหว่างการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนระยะที่ 1 ผู้ได้รับทุนต้องพัฒนาข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน

4. เงื่อนไขการให้ทุนระยะที่ 2 เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท

4.1 ผู้ได้รับทุนต้องมีผลการศึกษาระดับปริญญาตรีตามเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนด
4.2 ผู้ได้รับทุนต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. กำหนดเป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาการรับทุน โดยกรณีที่ผู้ได้รับทุนจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทก่อนครบกำหนดระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนในระยะที่ 1 สามารถเดินทางไปศึกษาก่อนครบกำหนดระยะเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนได้ไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการต้นสังกัด และสอดคล้องเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ ก.พ. กำหนด
4.3 ผู้ได้รับทุนต้องพัฒนาข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน และได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการ ภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่บรรจุเข้ารับราชการ ทั้งนี้ อาจขยายระยะเวลาได้ โดยต้องเสนอให้ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรณี ๆ ไป
4.4 ผู้ได้รับทุนต้องมีผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ระดับดีมากขึ้นไป หรือมีผลคะแนนการปฏิบัติราชการ ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ทั้งนี้ นับถึงวันที่ผู้ได้รับทุนเสนอข้อเสนอในการปรับปรุงและพัฒนางาน
4.5 ผู้ได้รับทุนต้องรับทุนระยะที่ 2 เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทตามโครงการที่ส่วนราชการต้นสังกัด และสำนักงาน ก.พ. กำหนด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีงบประมาณ นับตั้งแต่วันที่เริ่มบรรจุเข้ารับราชการ ทั้งนี้ อาจขยายระยะเวลาได้ โดยต้องเสนอให้ ก.พ. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งนี้ ส่วนราชการจะเป็นผู้ประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของผู้ได้รับทุนในการศึกษาต่อ ในหรือต่างประเทศ
4.6 รายละเอียดภารกิจและงานที่จะมอบหมายภายหลังจากสำเร็จการศึกษาสำหรับหน่วยทุนต่าง ๆ

5. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ

5.1 ผู้มีสิทธิสมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
5.1.1 เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (รายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย 3) และเป็นผู้มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในทุนแต่ละหน่วย
5.1.2 เป็นผู้ที่จะศึกษาในชั้นปีสุดท้ายของสถาบันการศึกษาในประเทศในปีการศึกษา 2567  ตามโครงสร้างของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาตามที่กำหนดในคุณสมบัติเฉพาะแต่ละหน่วยทุน และต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมาในระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 ตามที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยทุนแล้วแต่กรณี และเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 แล้วแต่กรณีเช่นกัน (ในระบบการวัดผลที่คิดคะแนนให้ A=4, B=3, C=2, D=1, E หรือ F=0) หรือ ร้อยละ 70 หรือร้อยละ 75 หรือ เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ และต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร (วันที่ 7 ธันวาคม 2566)

สำหรับทุนกลุ่มที่ 2 ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ (ส่วนภูมิภาค) ผู้มีสิทธิสมัครสอบต้องมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในภูมิภาคเดียวกับส่วนราชการที่จะไปปฏิบัติงานตามที่หน่วยทุนกำหนด โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับส่วนราชการที่จะไปปฏิบัติงานตามที่หน่วยทุนกำหนด

ผู้สมัครสอบที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทุกภาคการศึกษาที่ผ่านมา หรือ ตลอดหลักสูตรการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องมีหนังสือรับรองผลการเรียนจากสถานศึกษามาแสดงว่าเป็นผู้มีผลการเรียนเทียบได้กับผลการเรียนที่กำหนดไว้ในแต่ละหน่วยทุน หากผู้ใดไม่มีหนังสือรับรองผลการเรียนมาแสดงจะถือว่าขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบครั้งนี้

5.2 เป็นผู้ไม่อยู่ระหว่างการรับทุนที่มีข้อผูกพันในการชดใช้ทุน
5.3 เป็นผู้ที่มีศีลธรรม และความประพฤติดี
5.4 สำหรับภิกษุสามเณร ทางราชการไม่รับสมัครสอบ และไม่อาจให้เข้าสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาลฯ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ นว 89/2501 ลงวันที่ 27  มิถุนายน 2501 และตามความในข้อ 5 ของคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่ 1/2564 ลงวันที่ 28  กันยายน 2564

6. การรับสมัครสอบ

6.1 ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ ดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.
ที่ http://www.ocsc.go.th/scholarship หรือ http://uis.ocsc.go.th พร้อมทั้งสามารถพิมพ์แบบฟอร์มที่ใช้ในการสมัครสอบจากเว็บไซต์ดังกล่าวได้
6.2 กำหนดวันรับสมัครสอบ และวิธีการสมัคร
6.2.1 ผู้ประสงค์จะสมัครสอบได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม – 7 ธันวาคม 2566 ทางอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตามขั้นตอนดังนี้
(1) เปิดเว็บไซต์ http://uis.ocsc.go.th
(2) กรอกข้อความในใบสมัครให้ถูกต้องและครบถ้วน ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ระบบจะกำหนดแบบฟอร์มการชำระเงินที่มี QR Code เพื่อให้ ผู้สมัครสอบสามารถสแกนชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” หรือ “เป๋าตัง” ได้ทันที หรือสามารถพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงินลงในกระดาษ ขนาด A4 เพื่อชำระเงินในภายหลัง หรือ หากไม่มีเครื่องพิมพ์ในขณะนั้น ให้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ในรูปแบบ File ลงในสื่อบันทึกข้อมูล

ในกรณีที่แบบฟอร์มการชำระเงินสูญหาย หรือ กรอกใบสมัครแล้วแต่ยังไม่ได้พิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูล ผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน หรือ บันทึกข้อมูลลงในสื่อบันทึกข้อมูลใหม่ได้ แต่จะแก้ไขข้อมูลที่ได้กรอกใบสมัครในครั้งแรกไว้แล้วไม่ได้

6.2.2 การชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ
(1) นำแบบฟอร์มการชำระเงินไปชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม – 8 ธันวาคม 2566 โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชำระเงิน ผู้สมัครสอบต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม ภายในเวลา 22.00 น. ของวันดังกล่าว
ค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ประกอบด้วย
– ค่าธรรมเนียมสอบ หน่วยละ 100 บาท
– ค่าธรรมเนียมธนาคารรวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 บาท
ค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบจะไม่จ่ายคืนให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
(2) ผู้สมัครสอบสามารถชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบได้ 3 ช่องทาง คือ
– ช่องทางที่ 1 ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันและเวลาทำการของธนาคาร และตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ด้วย) ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในหลักฐานการชำระเงิน หากพบว่าไม่ถูกต้อง ให้รีบติดต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาที่ชำระเงินทันที
– ช่องทางที่ 2 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” ตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ โดยผู้สมัครสอบที่มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” แล้ว สามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน “Krungthai Next” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย
– ช่องทางที่ 3 ชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ตามวัน เวลาที่กำหนดในประกาศ โดยผู้สมัครสอบที่ได้ลงทะเบียน (Register) ขอใช้บริการแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว สามารถนำรหัส QR Code ไปทำรายการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ และให้เก็บหลักฐานการชำระเงิน (Slip) ไว้เป็นหลักฐานด้วย การสมัครสอบจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้สมัครได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว
6.2.3 ผู้สมัครสอบที่ชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบแล้ว จะได้รับเลขประจำตัวสอบ โดยจะกำหนดเลขประจำตัวสอบตามลำดับของการชำระเงิน ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงินได้ ภายหลังการชำระเงิน 7 วัน
6.2.4 ผู้สมัครสอบสามารถสมัครสอบได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
6.2.5 การสมัครสอบตามขั้นตอนข้างต้น ถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น หากผู้สมัครสอบจงใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

กลุ่มงานบริหารการสอบทุน ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 02-547-1330 , 02-547-1903 , 02-547-1907 , 02-547-1910 , 02-547-1911 , 02-547-1916 , 02-547-1955

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://shorturl.asia/hA1Pb

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/tOu09

RANDOM

error: Content is protected !!