สัตวแพทย์ จุฬาฯ โชว์ศักยภาพ คว้าอันดับ 1 ของไทย TOP 20 ของอาเซียน และอันดับ 73 ของโลก จากการจัดอันดับ ม.โลก โดย Scimago Institutions Rankings (SIR) 2023

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ของไทย อันดับ 16 ของอาเซียน และอันดับ 73 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดย Scimago Institutions Rankings (SIR) 2023 ซึ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรม 
รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของคณะ ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 16 ของอาเซียน และอยู่ในอันดับ 73 ของโลก ซึ่งขยับขึ้นมาจาก อันดับที่  83 ของโลก จากการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในด้านการวิจัยของคณะ และเป็นการเพิ่มศักยภาพให้คณะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับนานาชาติ
สำหรับตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย โดย SIR 2023 ประกอบด้วย 3 หมวดหลัก ดังนี้
1. ด้านการวิจัย (Research) คิดเป็นสัดส่วน 50 %  โดยดูจากจำนวนเอกสารทางวิชาการ วารสาร งานวิจัย จำนวนการอ้างอิง จำนวนผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิชาการและผลงานวิจัยของสถาบัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus
2. ด้านนวัตกรรม (Innovation) 30% เน้นเรื่องการให้ความรู้ที่เป็นนวัตกรรม สิทธิบัตร หรือ ผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ จากสถาบันที่อ้างอิงถึงในสิทธิบัตร โดยพิจารณาข้อมูลจาก Patent Statistical Database
3. ด้านสังคม (Societal) 20% พิจารณาจากการประชาสัมพันธ์ ขนาดของเว็บไซต์ จำนวนหน้าเว็บไซต์ที่เชื่อมโยง กับ URL ของสถาบัน จำนวนเครือข่าย (subnets) ที่เชื่อมโยงการเข้าถึงกับเว็บไซต์ของสถาบันนั้น ๆ และปริมาณเอกสาร และข่าวสารต่าง ๆ ของสถาบันที่เผยแพร่อยู่ในโซเชียล มีเดีย
รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ เผยถึง จุดเด่น 5 ด้านของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ทำให้สามารถแข่งขันได้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอาเซียนได้ ดังนี้
1. คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการนำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในวิชาชีพสัตวแพทย์ รวมถึงเรื่องของโรคระบาด ปัญหาเชื้อดื้อยา ปัญหาด้านงานอนุรักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านสัตวแพทย์ในการแก้ปัญหาทั้งสิ้น
2. ด้านทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ  คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติถึง 7 ท่าน ซึ่งนับเป็นนักวิจัยต้นแบบ ที่ทำให้งานวิจัยของคณะมีความเข้มแข็ง
3. ด้านทุนวิจัย (Funding) ด้วยความสามารถในการทำวิจัยของคณาจารย์ ทำให้คณะได้รับทุนวิจัยจากภายนอก เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท หรือ คนละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อคนต่อปี
 4. การนำงานวิจัยเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายวิจัยของคณะ ทำหน้าที่ในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม รวมทั้งจัดโครงการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เข้าร่วม ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)  และ การเป็น Research University ของมหาวิทยาลัย อีกด้วย
 5. เรื่องนโยบาย ภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย เช่น โครงการจุฬาฯ 100 ปี  มีการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมโคนม ที่ จ.สระบุรี โครงการร่างนิ่ม หรือ ศูนย์กายอุทิศสำหรับสัตว์ ฯลฯ ทำให้คณาจารย์ในคณะได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคมได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการ C2F ซึ่งให้ทุนกับนิสิตและนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มีศักยภาพ ทุนสนับสนุนกลุ่มวิจัยผ่านกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช สำนักบริหารวิจัย ฯลฯ
“ความสำเร็จของคณะเกิดจากการนำความโดดเด่นในทุก ๆ ด้านไปประยุกต์ใช้ให้ถูกที่และถูกเวลา รวมถึงอาจารย์ของเรายังมีเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยให้จุฬาฯ เป็นที่รู้จักในระดับสากล ทำให้เกิดความร่วมมือในด้านการวิจัยเรื่อยมา” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวเสริม
สำหรับแนวทางในการส่งเสริมงานวิจัยและวิชาการของคณาจารย์ และนิสิตในคณะ รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่า   คณะมีการสนับสนุนทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ และรุ่นกลาง มีระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง เพื่อช่วยให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้รับทุนวิจัยในระดับที่สูงขึ้น คณะฯ มีศูนย์ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมทางด้านนวัตกรรม และนำผลงานวิจัยไปประกวดแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนดูแลเพิ่มพูนทักษะด้านการเขียนบทความวิชาการ และข้อเสนอโครงการ มีการอัปเดตข้อมูลข่าวสารด้านทุนวิจัย และการให้รางวัลต่าง ๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักวิจัย รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยของคณาจารย์ที่ทำวิจัยให้เป็นที่รับรู้ทั้งภายในและสังคมภายนอก  ทั้งนี้ การที่ จุฬาฯ เป็น Comprehensive University ที่มีการทำงานข้ามศาสตร์ ทำให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้งานวิจัยของคณะมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวต่อว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมของคณาจารย์และนิสิต ผ่านโครงการการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมของคณะ ด้วยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ทางด้านนวัตกรรมแก่นิสิต และบุคลากร ผ่าน บริษัท Spin-Off ของ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท  CU Enterprise รองรับกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ Innovation and Enterprise Clinic ที่ได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่าของคณะ การส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานวัตกรรมไปสู่กลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบกิจการ ผ่าน CUVET Startup for Future Leader การอบรม Innovative sandbox incubation program สำหรับนิสิต การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัว เช่น โครงการอบรมเรื่องการจัดการบรรษัทภิบาล และภาษี โครงการ Demo Day for Innovator โครงการส่งเสริมการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดทุน ฯลฯ
ผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านมา ทำให้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ที่ตอบโจทย์ต่อสังคมและประเทศชาติ นวัตกรรมที่เป็น Highlight ได้แก่ นวัตกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ทั้งภาคการเกษตรและการดูแลสัตว์เลี้ยง เช่น การพัฒนาวัคซีนนาโนแบบไร้เข็มที่ใช้ในปลา การพัฒนาโพรไบโอติกโดยใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับไมโคร การใช้น้ำเลี้ยงเชื้อโพรไบโอติกระดับนาโน สำหรับฆ่าเชื้อบนแผลและในช่องหูสัตว์เลี้ยง การเพิ่มผลผลิตปลานิลด้วยการใช้ฮอร์โมนเปลี่ยนเพศ การพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงโคด้วยระบบเซนเซอร์ให้เป็นฟาร์มอัจฉริยะ การพัฒนาการรักษาสัตว์เลี้ยงด้วยเทคโนโลยีการผลิตสเตมเซลล์ การสร้างโมเดลจำลองเพื่อการเรียนการสอน การพัฒนาชุดตรวจภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัข เป็นต้น
“จากภาพรวมงานวิจัยของคณะ ถือว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว สิ่งที่เรากำลังต่อยอดจากงานวิจัย คือ การนำงานวิจัยไปเป็นส่วนสำคัญของการเรียนการสอน ทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร การเชื่อมโยงงานวิจัยผ่านมุมมองทางสังคม ไม่ใช่มุมมองด้านการแพทย์ หรือ วิทยาศาสตร์ อย่างเดียว รวมถึงการขยายงานบริการเชิงนวัตกรรมสู่การนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ” รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!