นายกสถาบันพระบรมราชนก วิเคราะห์ระบบการศึกษา 5 ประเทศ แนะไทยนำมาปรับใช้ เน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก วิเคราะห์ระบบการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และ ออสเตรเลีย มีรูปแบบการศึกษาภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ควบคู่การพัฒนาทักษะ เพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต พร้อมแนะ สมศ. ให้ความสำคัญกับรูปแบบการประเมิน เน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้มากกว่าการประเมินเพื่อกำกับ รับข้อเสนอแนะและนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ เพื่อร่วมยกระดับมาตรฐานและลดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษาของไทย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสถาบันพระบรมราชนก เปิดเผยมุมมองระบบการศึกษาของไทยและต่างประเทศ ผ่านการบรรยายหัวข้อ “การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 สมศ. “2 ทศวรรษ แห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา” ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า รูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบัน อาจไม่ใช่รูปแบบของโรงเรียนในอนาคต ดังนั้น การยกระดับระบบการศึกษาในโรงเรียนให้มีความทันสมัย จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา และบางครั้งต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัย และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่ไม่หยุดนิ่ง

สำหรับ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการประเมินคุณภาพของสถานศึกษาทั่วประเทศ ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการประเมิน ซึ่งการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ดีนั้น ต้องเป็นระบบที่บูรณาการทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายมีบทบาทร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ทีมผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และ ผู้ประกอบการ ซึ่งแนวทางการดำเนินการควรเน้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้มากกว่าการประเมินเพื่อกำกับ นั่นหมายความว่า การประเมินต้องเป็นการรับข้อเสนอแนะ และนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ เพื่อยกระดับมาตรฐาน และลดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษา

หากจะวิเคราะห์ระบบการศึกษาในต่างประเทศ อ้างอิงจากหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก ที่ยกตัวอย่างระบบการศึกษาของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และ ออสเตรเลีย ซึ่งมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ แต่ทั้ง 5 ประเทศ มีรูปแบบการศึกษาภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ 1. การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และ 2. การพัฒนาทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต

สำหรับประเทศสิงคโปร์ เน้นระบบการศึกษาคุณภาพสูง โดยระบบการศึกษาของสิงคโปร์ถูกออกแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 3 เน้นความรู้ทั่วโลก เน้นนวัตกรรม เน้นการสร้างสรรค์และการวิจัย

ขณะที่ ประเทศแคนาดา ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ดังนั้น สิ่งที่แคนาดาพยายามทำ คือ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาคุณภาพสูง ความโดดเด่นของแคนาดา คือ ครูเป็นผู้กำหนดคุณภาพการศึกษา และแผนพัฒนาด้วยตนเอง เพื่อทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรเอง เรียกได้ว่า เป็นการมอบอำนาจให้แก่ครู และโรงเรียนในการดำเนินการ

ด้าน ประเทศฟินแลนด์ พัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมที่การศึกษาค่อนข้างล้าหลัง ใช้เวลา 30 ปี พลิกสู่ประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูงระดับชั้นนำของโลก มีแนวทางในการออกแบบการศึกษา เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ โดยภาครัฐได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ให้แก่เด็กทุกคน ไม่จำกัดฐานะ อาชีพ และที่อยู่อาศัย โรงเรียนสำหรับการศึกษานี้ เรียกว่า Common School ศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการศึกษา คือ โรงเรียน และ ครู คือ หัวใจของคุณภาพการศึกษา ภายใต้หลักสูตรที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น

ทางด้าน สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนพลิกฟื้นระบบการศึกษาที่ถูกทำลาย สู่การเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาอันดับหนึ่งของโลก ภายในระยะเวลา 20 ปี โดยมุ่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ ซึ่งหัวใจสำคัญไม่ใช่หลักการ หรือ ความรู้ แต่เป็นการประยุกต์หลักการ หรือ ความรู้ โดยเป้าหมาย คือ การเรียนรู้ของนักเรียน จัดตั้งโรงเรียนนำร่อง มีการกระจายครูที่เก่งไปทั่วมลฑล มีการทำงานเป็นทีมร่วมกัน สังเกตพฤติกรรมเด็ก ปฏิกิริยาที่มีต่อการสอน และนำผลมาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

ส่วน ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีเด็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ใช้ระบบเทเลคอนเฟอร์เรนจากที่ห่างไกลเข้ามาเรียน เป็นรูปแบบของลักษณะการเรียนทางไกล และ สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ โรงเรียนมีความแตกต่าง และมีความหลากหลาย ดังนั้น นโยบายภาครัฐจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่อ่อนแอเป็นพิเศษ โดยเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครู และพัฒนาครูประจำการ ให้ตอบสนองกับหลักสูตรใหม่

“หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพสูง เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองของโลก วงการการศึกษาควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และพลิกผันของโลกและสังคม เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน และสามารถจัดการกับระบบการศึกษาในอนาคตได้” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

หอศิลป์ทิพย์พิมาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจิตรกรรม “ทิพย์พิมานสืบสานสิริศิลป์” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ด้วยรักษ์และเมตตา” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท เปิดรับสมัครและส่งผลงาน ระหว่างวันที่ 25 – 31 มี.ค. 67

error: Content is protected !!