เริ่มแล้ว Coding for farm ยกระดับเกษตรกรไทย สู่เกษตรประณีตทฤษฎีใหม่อย่างยั่งยืน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ไร่แสนดี จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการดำเนินโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยทั้งปี) ซึ่งดำเนินการโดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการวางแผนทําการเกษตรอย่างเป็นระบบ (Coding for farm) สู่โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “ทําเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยทั้งปี) โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานและกลับถิ่นฐาน ตลอดจนคนที่สนใจเพิ่มทักษะด้านการเกษตร ให้มีโอกาสในการสร้างอาชีพ ด้วยการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการพัฒนาให้มีองค์ความรู้และทักษะต่อยอดอาชีพเกษตรกร เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พร้อมปรับตัวรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้

โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 โดยมีหลักสูตรการอบรม ดังนี้ 1. การวางแผนการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ (Coding for farm) เช่น การวิเคราะห์และสร้างทางเลือกในการผลิตและบริการ 2. การจัดการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น การเก็บกักน้ำและการระบายน้ำเพื่อการเกษตร หลักการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในการปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การปลูกพืช เช่น การปลูกข้าวโพดหวานระบบแม่นยํา การผลิตผักปลอดภัย การปลูกพืชไร่ผลิตอาหารสัตว์ 4. การเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีก การเลี้ยงโคพื้นเมือง การเลี้ยงกบ และการวางแผนการทําเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่งการอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคทฤษฎี 7 วัน (1 สัปดาห์) และภาคเรียนปฏิบัติ 21 วัน (3 สัปดาห์) โดยมีระยะเวลาอบรมรวม 1 เดือน โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมและผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินเริ่มต้นการลงทุน 1,300 บาท ต่อคน เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ ได้นำหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (หลักสูตรชลกร) มาต่อยอดบูรณาการในหลักสูตร และในการอบรมยังได้รับความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในชุมชน และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เช่น วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโค วิสาหกิจชุมชนปลูกผักเพื่อสมุนไพรผลิตผลิตภัณฑ์ ร่วมกับ ครูจากวิทยาลัยฯในการให้องค์ความรู้ส่งต่อให้กับผู้รับการอบรมอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร ซึ่งดำเนินโครงการโดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยจะติดตามและประเมินผลจากการไปประกอบอาชีพเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ผู้สนใจสามารถสมัครและเข้ารับการอบรมได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและประมง สังกัด สอศ. ทั้ง 47 แห่ง ทั่วประเทศ และวิทยาลัยการอาชีพโนนดินแดน จังหวัดบุรีรัมย์ และวิทยาลัยการอาชีพดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร รวม 49 แห่ง

“ในพื้นที่ชุมชนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ดและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ได้รับการตอบรับจากประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นที่น่ายินดีที่เกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม นอกจากการต่อยอดในอาชีพแล้ว ยังได้รับทุนในการประกอบอาชีพอีกด้วย จึงอยากชวนให้เกษตรกรและผู้ที่ต้องการมีอาชีพเข้าร่วมอบรม สิ่งสำคัญ อยากให้เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัว และเรียนรู้การจัดสรรอย่างเป็นระบบ การปลูกพืชผสมผสาน การจัดการน้ำ ดิน พืช และสัตว์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ พึ่งพาตนเองได้ วางแผนประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก คนไทยจะมีอาชีพที่มั่นคง อยู่ดี กินดี มีคุณภาพ อย่างยั่งยืน” รมช.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

กกท.และนครสวรรค์จับมือลุยจัดกีฬาอาวุโสแห่งชาติให้สมบูรณ์แบบ พร้อมปรับเวลาแข่งและจัดการช่วยระบายอากาศ เพื่อสู้ความร้อน หวังช่วยให้นักกีฬาแสดงความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ

error: Content is protected !!