สอศ. ร่วมมือ ภาคเอกชน ตั้งเป้าขยายเรียนทวิภาคี 50% ใน 3 ปี ตอบโจทย์ตลาดงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) เพื่อสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา และขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) พร้อมด้วย นางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ตลอดจนผู้บริหารสถานประกอบการ ให้การต้อนรับและเข้าร่วม

รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก โดยกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำองค์ความรู้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ของสถานประกอบการในภาคเอกชนมาร่วมจัดการอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการ ทักษะทางวิชาชีพ และการฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพของครูและผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ทักษะขั้นสูง และได้รับประสบการณ์วิชาชีพ ตรงกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำเอายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเป็นแนวทางในการดำเนินการ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีการแต่งตั้งคณะ อ.กรอ.อศ.ทั้ง 39 กลุ่ม ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร กลุ่มอาชีพอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาชีพพลังงาน เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษา และขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีศูนย์ CVM ทั้ง 25 แห่ง เป็นต้นแบบในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ และมีจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ คาดว่าในอนาคตอันใกล้จะมีศูนย์ CMV ครอบคลุม 39 แห่ง ครบ 39 กลุ่มอาชีพที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชนทุกแห่ง ขยายความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี กับภาคเอกชนและเครือข่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โควิด 19 และจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายให้นักเรียนเข้าสู่ระบบทวิภาคีไม่น้อยกว่า 50% ภายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมที่มีนักเรียนในระบบฯ เพียง 15% จากจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาทั้งหมด

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า หลายปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนให้การสนับสนุนอาชีวศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย จึงอยากขอความร่วมมือภาคเอกชน ช่วยสนับสนุนอาชีวศึกษาให้มีความเข็มแข็งมากยิ่งขึ้น โดย ศธ.ได้เข้ามารับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนา และการต่อยอดความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาให้ทันสมัย เพื่อให้มีบุคลาการมืออาชีพที่ตรงกับความต้องการ

 

RANDOM

error: Content is protected !!