จุฬาฯ ผนึกกำลัง สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชู “ผลิตภาพนิยามใหม่” ยกระดับคุณภาพบัณฑิตและบุคลากรวัยทำงาน ผ่าน CUGS Academy

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ผนึกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ภายใต้ โครงการบริการวิชาการการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUGS Academy : Lifelong Learning and Interdisciplinary Graduate School, Chulalongkorn University โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ในงานมีการเปิดตัวหลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการเพิ่มผลผลิต จำนวน 28 หลักสูตร เพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิต บัณฑิตจบใหม่ และบุคคลเพิ่งเริ่มทำงาน โดยมี รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ ผู้อำนวยการ CUGS Academy และ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณพรพิมลพรรณ ดวงใจบุญ ผู้จัดการส่วนบริการฝึกอบรมและสัมมนา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้คำแนะนำหลักสูตร ขั้นตอนการเข้าเรียน และการเก็บ portfolio

ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพของบัณฑิตรุ่นใหม่ และบุคลากรในภาคแรงงานไทย ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น โดยผสานความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้ CUGS Academy เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดำเนินการโดย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ซึ่งมีการเปิดตัวหลักสูตรนำร่องจำนวน 28 หลักสูตร โดยอาศัยความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ โดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อผลิตบัณฑิตยุคใหม่ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ทักษะด้าน Lean Process ด้าน Six sigma ด้าน Project Management เป็นต้น ผนวกกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่ออนุเคราะห์สถานที่ดูงาน ฝึกงาน สำหรับผู้เข้าเรียนในหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้ความร่วมมือของ 2 องค์กร นอกเหนือไปจากการนำความรู้และทักษะไปใช้พัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ผู้เรียนยังสามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมแต่ละหลักสูตร มาสะสมในคลังหน่วยกิตของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (NCBS – National Credit Bank System) เพื่อขอเทียบโอนสำหรับขอสำเร็จการศึกษาต่อไป

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของนิสิต บุคลากร นิสิตเก่า และประชาชนทั่วไป และมีองค์ความรู้สำคัญสำหรับพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศให้มั่นคง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตระหว่าง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือ สร้างกลไกการบริหารจัดการ และร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการ สร้างความหลากหลายขององค์ความรู้แก่ผู้เรียน นับเป็นการสนับสนุนการดำเนินการในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการขยายแนวคิด ผลิตภาพนิยามใหม่ ให้มีความครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษา บัณฑิตที่จบใหม่ และบุคลากรวัยพร้อมเริ่มงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ของจุฬาฯ มาใช้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครือข่ายของสถาบันเพิ่มผลผลิตจะช่วยยกระดับของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ให้ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถทำงานไปเรียนรู้ไป เก็บสะสมองค์ความรู้จนสามารถทำให้องค์กรเติบโต ประเทศก็จะก้าวหน้า ในแง่ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจภาคธุรกิจที่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็สามารถเข้ามาเรียนแล้วเก็บเป็นโปรไฟล์ให้กับตนเอง สะสมสิ่งที่อยากรู้ เป็นการเปิดกว้างให้แต่ละคนมีทางเลือกให้กับชีวิต และสามารถกำหนดเส้นทางอนาคตให้กับตนเองได้ เป็นการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยในอนาคต

หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ภายใต้โครงการบริการวิชาการการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ สหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับการพัฒนาขึ้นมา 5 ด้าน ประกอบด้วย Strategic Management, Customer & Marketing Management, Workforce Management, Self-Development และ Operational Excellence ในรูปแบบ E-Training, Workshop onsite และ Site visit ในสถานประกอบการจริง รวม 28 หลักสูตร ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะ ประสบการณ์ และยังนำไปสู่การสะสมประวัติการเรียนรู้ หรือ Portfolio ของตัวเอง อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เทียบโอนหน่วยกิตได้อีกด้วย พร้อมทั้งสามารถยกระดับวิชาชีพของบุคลากรของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของบุคลากรไทย” นายสุวรรณชัยกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง รับการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมหลายแขนง รวมถึงเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่ของการปฏิบัติงานจริง ทั้งในโรงงาน หรือ กิจการขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียน นอกจากการเรียนรู้ภาควิชาการช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้พร้อมสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่

ผู้สนใจจะพัฒนาตนเองและต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในหลากหลายองค์ความรู้ ผ่านแพลตฟอร์ม CUGS Academy สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cugs.academy/

RANDOM

กัมพูชา ตัดเพาะกาย และยืนยันใช้ชื่อมวยขะแมร์ต่อสมาชิกในการจัดซีเกมส์32 โดยไม่แจ้งเหตุผล หลังทราบข่าวสมาคมมวยไทยจะไม่ส่งแข่งแน่ และ คนเพาะกายไทย ยันเรื่องนี้รู้เหตุผลเจ้าภาพ ย้ำไม่จัดก็ดีหากจะจัดแล้วด้อยค่ากีฬาเพาะกายก็ไม่ควรจัด

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!