“กังหันน้ำคีรีวง” กังหันผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก นวัตกรรมฝีมือคนไทย ขยายผลสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

แม้ว่า “ไฟฟ้าพลังน้ำ” จะเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานทดแทนที่ถูกบรรจุอยู่ ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP2015) แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปเทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบสายส่ง ขณะที่ เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งมีราคาต่อหน่วยพลังงานต่ำสุดในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนด้วยกัน (ประมาณ 1.5-12 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) กลับเป็นเทคโนโลยีนำเข้า ที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงกิโลวัตต์ละ 100,000 บาท เพราะยังไม่มีบริษัทของไทยที่สามารถผลิตกังหันน้ำขนาดเล็กได้ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลจากสายส่งได้อย่างมหาศาล

ชุมชนคีรีวง คือ ตัวอย่างหนึ่งของชุมชนเกษตรกรรม ที่อยู่ห่างไกลจากจากสายส่ง และต้องใช้เครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า ที่ทำให้มีต้นทุนค่าน้ำมันค่อนข้างสูง และหากจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ก็มีที่โล่งแจ้งอยู่จำกัด และใช้ได้เฉพาะเวลากลางวัน ขณะเดียวกันระบบท่อที่เกษตรกรแต่ละรายทำ ก็เป็นการใช้น้ำที่ไหลผ่านท่อลงมจากจากยอดเขา เพื่อปลูกผลไม้และพืชสวนต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว ทั้งที่หากนำมาผ่านเครื่องกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (0-1 KW) ก่อนปล่อยสู่แปลงปลูก ก็จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายด้าน

นี่จึงเป็นที่มาของการเข้าไปทำการวิจัย พัฒนา ติดตั้ง และทดลองใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ณ ชุมชนหมู่บ้านคีรีวง ตั้งแต่ปี 2548 โดยมี ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหัวหน้าโครงการ ที่ภายในระยะเวลา 4 ปี ก็สามารถพัฒนากังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก เป็นการพัฒนาโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ชื่อ “กังหันน้ำคีรีวง”

ทีมวิจัยเข้าไปร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Pico Turbine) เมื่อปี 2548 จนมีการติดตั้ง “กังหันน้ำคีรีวง” ที่มีกำลังผลิต 1 กิโลวัตติ์ ให้กับชุมชนแห่งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2552 จุดเด่นสำคัญของกังหันน้ำคีรีวง ที่มีขนาดเล็ก มีความทนทาน ดูแลรักษาง่าย รวมถึงมีค่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานน้ำเป็นไฟฟ้าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว พบว่า กังหันน้ำคีรีวง ขนาด 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอด 20 ปี ไม่เกิน 40,000 บาท จะใช้เวลาคุ้มทุนในเวลาไม่ถึง 2 ปี เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟ ซึ่งตลอด 20 ปี จะมีค่าน้ำมันหลายแสนบาท ทำให้วันนี้มีการติดตั้งและใช้งานกังหันน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ของชุมชนคีรีวงมากกว่า 160 ชุด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 91 กิโลวัตต์

ด้าน คุณวิรัตน์ ตรีโชติ เลขาฯวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง กล่าวว่า แม้กังหันน้ำคีรีวงจะมีข้อจำกัดตรงที่เป็นระบบผลิตไฟฟ้าระดับครัวเรือน ต่างจากแหล่งพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ หรือ กังหันลม ที่คนในชุมชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถขอรับการสนับสนุจากกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ แต่กังหันน้ำของที่นี่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า และทำให้ในปีนี้มีสมาชิกในกลุ่มแสดงความจำนงขอติดตั้งกังหันน้ำด้วยเงินของตัวเองไม่น้อยว่า 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกรในอำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอพิปูน รวมถึง อำเภอที่อยู่รอบเทือกเขานครศรีธรรมราช เข้ามาศึกษาดูงานและสอบถามรายละเอียดของการติดตั้งและใช้งานกังหันน้ำชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อให้การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของประเทศมีความยั่งยืน ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015) ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และแผนปฏิรูปพลังงาน รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ข้อ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา จึงเป็นที่มาของ “โครงการการพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ที่จะต่อยอดจากกังหันไฟฟ้าจากกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนคีรีวง ไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชทั้งหมด ที่ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา)

“การนำกังหันน้ำขนาดเล็กมากมาใช้งานในพื้นที่ชุมชนคีรีวง อาจจะเป็นความสำเร็จในวันนี้ แต่การจะทำให้พื้นที่คีรีวงเป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนรอบเทือกเขาแห่งนี้อย่างยั่งยืน นอกจากต้องทำให้แต่ละคนได้เห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการติดตั้งและใช้กังหันน้ำขนาดเล็กอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะต้องทำให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดนี้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงและยั่งยืน” ผศ.ดร. อุสาห์ กล่าวทิ้งท้าย

จากงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี มาเป็นนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร วันนี้กังหันน้ำคีรีวงกำลังทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช สู่เครือข่ายการจัดการน้ำที่จะช่วยทำให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นแหล่งทรัพยากรที่จะสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

RANDOM

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!