รร.บ้านบุฯ โคราช เติมทักษะ Coding ปั้น “ยุวนวัตกร” ร่วมพัฒนาชุมชน ต่อยอดการเรียนรู้ ปูทางประกอบอาชีพในอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

การศึกษา คือ รากฐานของการพัฒนาประเทศ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนา เพื่อยกระดับการพัฒนาการศึกษาไทย ภายใต้ความมุ่งมั่นของ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา “คอนเน็กซ์ อีดี” (CONNEXT ED)

โรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 547 คน ทั้งนี้ โรงเรียนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคอนเน็กซ์ อีดี โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ “ยุวนวัตกร” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการคิด การวางแผน ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างทักษะให้นักเรียนในการเขียนโปรแกรมควบคุมบอร์ดสมองกล รวมไปถึงการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อ ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพ

ดร.อนงค์ อมรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการ รร.บ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) กล่าวว่า โครงการยุวนวัตกร เป็นโครงการที่ตอบโจทย์เด็กไทยยุคใหม่ ที่จะต้องมีทักษะในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนักเรียนมีความสนใจในเรื่องดังกล่าว แต่โรงเรียนยังขาดทรัพยากร ต้องขอขอบคุณ ซีพีเอฟ และ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา เข้ามาสนับสนุน ทำให้โรงเรียนมีการพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่น่าพอใจ นักเรียนมีทักษะด้านเทคโนโลยี ก้าวทันต่อโลกศตวรรษที่ 21 และในอนาคตคาดหวังว่า นวัตกรน้อยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านเทคโนโลยี และชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพได้

ด้าน คุณครูธงชัย ขำเทศเจริญ คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการยุวนวัตกร กล่าวว่า โครงการยุวนวัตกร ดำเนินการจัดการเรียนการสอนกับกลุ่มสนใจ หรือ กลุ่มยุวนวัตกร ในรายวิชาชุมนุมคอมพิวเตอร์ โดยมีการเรียนการสอนในชั่วโมง และการฝึกอบรม โดยการเรียนจะเป็นการใช้บอร์ดสมองกลในการควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น การใช้แสงในการควบคุมการเปิดปิด การใช้อุณหภูมิในการเปิดปิดพัดลม การใช้ IOT ในการเปิดปิดหลอดไฟ และจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการควบคุมบอร์ดสมองกล โดยใช้บอร์ดสมองกล KidBright ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ทั้ง Input และ Output แล้วเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น การเขียนโปรแกรมควบคุมเซ็นเซอร์วัดระยะห่าง เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ ก็จะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในรายวิชาโครงงานคอมพิวเตอร์ เช่น เซ็นเซอร์วัดระยะห่าง นำไปสร้างโครงงานเครื่องกั้นรถอัตโนมัติ โครงงานเรื่องโรงจอดรถอัตโนมัติ หรือ เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุ นำไปสร้างโครงงานเรื่องถังขยะอัตโนมัติ โครงงานเรื่องอ่างล้างมืออัตโนมัติ เป็นต้น

“รู้สึกดีใจและขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อใช้สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากสื่ออุปกรณ์ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ทางโรงเรียน รวมทั้งการจัดกิจกรรมอบรมต่าง ๆ นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังสามารถนำไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น การทำโครงการในระดับชั้น ปวช. ปวส. นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน” ครูธงชัย กล่าว

“น้องหยาง” ด.ช.ไพศาล ดอนเกษม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวว่า ได้เรียนรู้กระบวนการทำบอร์ดสมองกล KidBright และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น ระบบเปิดและปิดไฟอัตโนมัติที่เราติดตั้งที่โรงเรียน และผมได้นำไปใช้ที่บ้านด้วย นอกจากนี้ โครงการยุวนวัตกร ยังทำให้ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ต่อไปในสายอาชีพ ดีใจที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจาก ซีพีเอฟ และ คอนเน็กซ์ อีดี ทำให้นักเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดีขึ้น

ทางด้าน “น้องนิว” ด.ช.บุลฤทธิ์ หิลแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ และฝึกเขียนบอร์ดสมองกลในโครงการยุวนวัตกร และได้ฝึกทดลองทำโครงงานเครื่องกั้นรถอัตโนมัติ หรือ การใช้ IOT ในการเปิดปิดหลอดไฟ และได้นำไปใช้ประโยชน์กับที่บ้านด้วย ขอขอบคุณ ซีพีเอฟ และ โครงการคอนเน็กซ์ อีดี ที่มอบโอกาสให้โรงเรียนของเรา ทำให้เราได้คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และได้รับความรู้ทางอิเล็คทรอนิคส์ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ เป็น 1ใน 12 บริษัทเอกชน ที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา ในปัจจุบันมีโรงเรียนภายใต้การดูแล 298 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี และในปี 2566 เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพ และเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน และส่งเสริมการนำทักษะใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 มาใช้ อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด (Coding) การจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ Proactive teacher for active learning และ โครงการ STEM Education เพื่อยกระดับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการสอน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเด็กดี และ เด็กเก่ง ตามเป้าหมายของคอนเน็กซ์ อีดี

RANDOM

NEWS

มูลนิธิเอสซีจี ชวนเยาวชนไทยหัวใจศิลป์ มาปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ ในโครงการประกวด “รางวัลยุวศิลปินไทย 2567” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเงินรางวัลรวม 3,300,000 บาท

error: Content is protected !!