จิตรลดา จับมือ ซินโครตรอน ร่วมพัฒนาการเรียนการสอน พร้อมเดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจอาชีพทางวิทยาศาสตร์แก่นักเรียน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จับมือ โรงเรียนจิตรลดา เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนจิตรลดา หลังร่วมมือกันสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ และจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 7 ปี

รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ณ ศาลาผกาภิรมย์ โรงเรียนจิตรลดา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การทำวิจัยของครู และโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซินโครตรอน และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคล และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนทางวิชาการ การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม ผลักดันโครงการวิทยาศาสตร์และค่ายวิทยาศาสตร์ และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเชื่อมโยง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับ โรงเรียนจิตรลดา ให้นักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ได้ไปร่วมกิจกรรมที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่ผ่านมา นักเรียนประถมได้เข้าค่ายทั้งได้ความรู้ สนุกสนาน และประทับใจในทุกกิจกรรมที่สถาบันฯ จัดให้ ส่วนนักเรียนมัธยมได้ไปเข้าค่ายและศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับแสงซินโครตรอน ทำให้นักเรียนประทับใจ จุดประกายให้นักเรียนอยากมีความรู้สูงมากขึ้น และมีโอกาสเข้าร่วมโครงการไปเยือนเซิร์น (CERN) เกือบทุกปี หวังว่านักเรียนจิตรลดาส่วนหนึ่งจะได้เรียนสูงขึ้น และมีโอกาสได้ไปทำงานที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

“ก่อนหน้านี้สถาบันฯ และ โรงเรียนจิตรลดา มีความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอน ฝึกอบรม และจัดกิจกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลาย ๆ กิจกรรม ได้แก่ “ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย…ท่องแดนซินโครตรอน” สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ “ค่ายลำแสงซินโครตรอน…แสงแห่งอนาคต” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 5 ซึ่งทั้งสองค่ายมีการจัดทุกปีตั้งแต่ ปี 2559 และห่างหายไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไป” ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าวว่า สถาบันฯ มีเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยีซินโครตรอน และมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ และสร้างแรงดาลใจให้แก่เยาวชน ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราได้ร่วมมือกันมา โอกาสนี้ สถาบันฯ ยังได้นำตัวอย่างผลงานวิจัยมาจัดแสดงให้เด็ก ๆ ได้เห็นประโยชน์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซินโครตรอน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ร่วมพัฒนากับภาคอุตสาหกรรม เครื่องผลิตออกซิเจนโดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ โมเดลห้องเชื่อมโลหะต่างชนิดในสภาวะสุญญากาศ และท่อเร่งอนุภาคเชิงเส้นที่ได้จากการเชื่อมโลหะต่างชนิดในสภาวะสุญญากาศ และได้ผ่าครึ่งเพื่อให้เห็นโครงสร้างภายใน เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานจัดค่ายวิทยาศาสตร์น้อย…ท่องแดนซินโครตรอน (สำหรับโรงเรียนจิตรลดา) และ ผู้จัดการโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “แสงซินโครตรอน…ลำแสงสุดล้ำ” ให้แก่นักเรียนโรงเรียนจิตรลดากว่า 200 คน ที่เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ด้วย

RANDOM

NEWS

อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

error: Content is protected !!