สพฐ. ขยายผล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำร่อง 245 เขต 29,000 โรงเรียน เริ่มภาคต้นปีการศึกษา 1/2566

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศธ. ร่วมกับ มท. สธ. มจธ. และ AIS ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลไปสู่สถานศึกษา โดยนำร่องให้ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวมกว่า 29,000 โรงเรียน ใน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเริ่มต้นการเรียนการสอนภายในภาคต้นของปีการศึกษา 1/2566 เป็นต้นไป

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เกิดจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ AIS โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับการเรียนการสอน และปลูกฝังทักษะดิจิทัล ผ่านเนื้อหา 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ได้แก่  1). Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง และเหมาะสม 2). Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3). Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4). Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ให้กับเด็ก เยาวชน และคนไทย

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ถือเป็นภารกิจของ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ และปลอดภัย ซึ่ง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” สามารถตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยจะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถาบันการศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ อันจะทำให้นักเรียนและเยาวชนของเรามีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การยกระดับภาคการศึกษาไทยให้ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ในกลุ่มก่อนระดับอุดมศึกษา ให้มีองค์ความรู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ผ่านการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมแนะแนว หรือ รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับโครงสร้างวิธีการทำงานของแต่ละสถาบันการศึกษา โดยจะสามารถขยายผลให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ภายในภาคต้น ของปีการศึกษา 1/2566 ที่กำลังจะมาถึง และเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถรับมือและอยู่ร่วมกับการใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย คือ การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน การพัฒนา หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการกระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิตรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน

ขณะที่ นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า หลังจากที่เราได้เปิดตัว หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และได้มีการทดลองทดสอบบนระบบ Sandbox ที่มีคุณครู นักเรียน เข้าเรียน และสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน จากการทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา วันนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราพร้อมขยายผลผ่านไปยังครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ที่อยู่ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการนำเข้าไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรม ที่จะบ่มเพาะให้นักเรียนค่อย ๆ เพิ่มพูนความรู้ และทักษะดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจน โดยเชื่อมั่นว่าด้วยเทคนิคการสอนของครูอาจารย์จะช่วยกระตุ้น
การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิชาการที่จะสนับสนุนให้เยาวชนเกิดภูมิคุ้มภัยไซเบอร์ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทางด้าน ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เราได้ใช้ศักยภาพของ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ทำการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้ออกมาอยู่ในสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนมีทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัล โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ปิดท้ายที่ ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ขยายผลการใช้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ลงสู่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. โดยกระตุ้นให้ครูนำไปใช้เป็นสื่อการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) บูรณาการเข้ากับรายวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ จัดให้อยู่ในกิจกรรมชมรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมแนะแนว ทั้งนี้ บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา คือ การวางแผนและปรับใช้ในสถานศึกษา บทบาทของครูผู้สอน คือ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้แก่นักเรียน สำหรับ นักเรียน คือ การศึกษาหาความรู้ และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของตนเอง และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับการใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ป้องกัน เพื่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน

RANDOM

error: Content is protected !!