“การฆ่าตัวตายในเด็ก” ปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม !!

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

การฆ่าตัวตาย (SUICIDE) หรือที่เรียกว่า การก่ออัตวินิบาตกรรม เป็นการกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองถึงแก่ความตายอย่างตั้งใจ เป็นความผิดในเชิงจริยธรรม เพราะเป็นข้อห้ามในหลักศาสนาโดยทั่วไป และหลายประเทศยังระบุว่า การฆ่าตัวตายนั้นเป็นความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐ เพราะประชาชนถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อรัฐ การฆ่าตัวตายเหมือนกับทำให้รัฐเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมโลกที่เปลี่ยนไป หลายประเทศเริ่มผ่อนปรนกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดเช่นนี้ลง และเปลี่ยนเป็นลักษณะของการเยียวยาและป้องกันแทน เช่น ประเทศอังกฤษ จากที่เคยมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น มีความผิดเทียบเท่ากับการฆาตกรรม ก็ได้มีการออกกฎหมายใหม่ว่า การฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิด แต่การยุยงสนับสนุนให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายนั้น ยังคงเป็นความผิดอยู่ และได้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีดูแลในเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นชาติแรกที่ดำเนินการเช่นนี้

สำหรับ กฎหมายของประเทศไทย การช่วยเหลือ ยั่วยุ สนับสนุน หรือส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายนั้น เป็นความผิด เช่น มาตรา 293 ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุไม่เกิน 16 ปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่า การกระทำของตนมีสภาพหรือสาระสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตนเอง ถ้าการฆ่าตนเองนั้นได้เกิดขึ้น หรือได้มีการพยายามฆ่าตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือแม้แต่การที่พบเห็นเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย แต่ไม่ยอมเข้าไปช่วยเหลือ ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย เพราะ มาตรา 374 ระบุว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้ โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ แม้แต่ในทางแพ่ง ก็พยายามจะไม่เอื้อให้เกิดการฆ่าตัวตาย เช่น เรื่องของหนี้สิน การหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวตายนั้น ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะหนี้ไม่สูญ และครอบครัวที่อยู่ข้างหลังต้องเป็นผู้ใช้หนี้แทน เป็นต้น

ปัญหาการฆ่าตัวตาย เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ ซึ่งช่วงอายุที่พบว่าฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 30-60 ปี รองลงมา เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และวัยรุ่น ตามลำดับ (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2560) โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

1. การเลียนแบบบุคคลใกล้ชิดที่มีประวัติฆ่าตัวตาย เลียนแบบตามข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจชักชวนให้เด็กหรือวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรมฆ่าตัวตายดังกล่าว

2. เป็นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า หรือมีความผิดปกติทางชีวภาพในสมอง เป็นผลให้เกิดสภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ สภาพจิตใจไม่ปกติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ เห็นสิ่งผิดเป็นถูก ทำให้อาจมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ง่าย

3. การตั้งครรภ์และภาวะหลังคลอด เป็นสภาวะความแปรปรวนทางอารมณ์ของผู้หญิงระหว่างการตั้งครรภ์และภายหลังจากการคลอดแล้ว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมจากบุคคลใกล้ชิด ก็มีความเสี่ยงที่จะคิดสั้นได้

4. มึนเมาและติดสารเสพติด ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจจะเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายได้ง่าย

5. ปัญหาสุขภาพ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่หนักมาก และมีสภาพจิตใจไม่แข็งแรง อาจหาทางออกของชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เพื่อไม่ให้ตนเองทรมานจากโรคภัย หรือไม่อยากให้ครอบครัวต้องมาดูแลรักษา

6. สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวที่ยากจน และเป็นหนี้เป็นสิน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวเลือกที่จะหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตาย และมีแนวโน้มที่จะกระทำกับบุคคลใกล้ชิดด้วย

7. ภาวะความเครียดและความกดดันจากสังคม สภาพแวดล้อม ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ปรับตัวไม่ได้ มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ ความผิดหวังจากที่สิ่งคาดหวังต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการบำบัดที่เหมาะสม จะส่งผลให้ภาวะดังกล่าว แปรเปลี่ยนเป็นโรคทางจิตเภทที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้

8. ความเหงา อ้างว้าง มักเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่มีญาติมิตร เพื่อนฝูง หรือ ลูกหลานไม่ค่อยมาเยี่ยมเยียน

9. การฆ่าตัวตายประชด คือ การทำการฆ่าตัวตายเพื่อให้บุคคลอื่นหรือคู่กรณีได้รับรู้ มักพบเห็นการฆ่าตัวตายแบบนี้ ผ่านการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกยุคดิจิทัล

ปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนนั้น อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา เพราะมีหลาย ๆ ประเทศ กำลังประสบปัญหาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในประเทศค่อนข้างสูง ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการของประเทศญี่ปุ่น ได้ระบุว่า มีเด็กและเยาวชนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาฆ่าตัวตาย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559/60 จนถึงเดือนมีนาคม มีจำนวนถึง 250 คน ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของเด็กและเยาวชนที่ฆ่าตัวตายนั้น มาจากความเครียดที่เกิดจากการกดดันภายในครอบครัว การโดนกลั่นแกล้งจากที่โรงเรียน มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และมีแนวโน้มประชดสังคม ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายของกลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนที่เหมาะสม คือ การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นเฟ้น การรับฟังเขาอย่างจริงใจ คือ การเปิดโอกาสให้เขาแชร์ปัญหาที่กำลังแบกรับอยู่ หลายครอบครัวมักเอาความคาดหวังไปลงไว้ที่ลูก โดยไม่คำนึงว่าความคาดหวังนั้นมันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะแบกรับได้หรือไม่ ในเรื่องนี้ถ้าเกี่ยวข้องกับการเรียน หรือการดำเนินชีวิตในโรงเรียน คุณครูควรเป็นตัวกลางสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจอันดีให้กับผู้ปกครองของเด็ก เพื่อให้เขายอมรับสภาพที่แท้จริงของลูกหลาน และส่งเสริมเขาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คุณครูก็ควรทำหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กและเยาวชน เช่น แยกตัวจากเพื่อน ปลีกตัวออกมาอยู่คนเดียว จิตใจหม่นหมอง เริ่มไม่สนใจการเรียนอย่างผิดสังเกต เพื่อรายงานให้คนในครอบครัว รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือแก้ไขก่อนที่พฤติกรรมเหล่านั้น จะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมา

อย่างไรก็ดี แม้แต่การปฏิบัติของครู ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้เช่นกัน เพราะการกระทำหรือคำพูดของคุณครูที่เป็นไปในเชิงดูถูกเหยียดหยามและถากถางนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กนักเรียน การกระทำกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และควรปรับเปลี่ยนอย่างยิ่ง เราอาจคิดว่าสมัยก่อนที่เรายังเป็นนักเรียน เราก็เคยโดนไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่อย่าลืมว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพสังคมก็เปลี่ยนไป คนเรารับกับสภาวะต่าง ๆ ได้แตกต่างไปจากเดิม เราจึงไม่ควรเอาบรรทัดฐานของเราไปใช้วัดพวกเขา

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้นำเสนอวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ เพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบนักเรียนโดยทั่วไปได้ ซึ่ง วิธีปฐมพยาบาลทางจิตใจ มีหลักการสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1. สอดส่งมองหา ผู้ที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติการฆ่าตายตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตาย

2. ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา ซึ่งจะนำไปสู่ประการที่ 3

3. ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล

ปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยให้พวกเขาแบกรับปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วยตัวเองตามลำพัง การรับฟังพวกเขาอย่างจริงใจ และให้การช่วยเหลือพวกเขาอย่างถูกจุด จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนลงได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : ทรูปลูกปัญญา

RANDOM

NEWS

พม. ร่วมกับ มูลนิธิลมหายใจไร้มลทิน เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนและผู้สนใจร่วมประกวดในโครงการ จะคิด ทำ อย่างไร เพื่อเสริมสร้างค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์ ชิงทุนการศึกษากว่า 300,000 บาท เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 30 ส.ค. 67

error: Content is protected !!