โรงเรียนล่องแพวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน ตัวอย่างโรงเรียน Stand-alone ในพื้นที่ห่างไกล ต้นแบบสถานศึกษาที่เน้น Active Learning

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยคณะ ทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย ผอ.สวก., สทศ., สบว., สบน., ศนฐ., และทีมวิชาการของรองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมพูดคุยหารือกับ ผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 และผู้บริหารโรงเรียนล่องแพวิทยา เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้

โรงเรียนล่องแพวิทยา สังกัด สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ฯ (กพด.) จัดการศึกษาให้กับนักเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชั้นมัธยมปลาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง ทุรกันดาร ให้บริการทางการศึกษากับนักเรียนชาวไทยหลากหลายชาติพันธุ์ ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ อําเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อําเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และ อําเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งผู้ปกครองและชุมชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ นอกจากผู้นําชุมชนที่สามารถพูดคุยสื่อสารได้ จึงเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางด้านภาษา ดังนั้น นักเรียนที่เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา ต้องใช้ระยะเวลาในการสอนให้เด็กเข้าใจภาษาไทยจนสามารถสื่อสารได้ก่อน จึงจะเริ่มฝึกการอ่านและเขียนเป็นลําดับถัดไป จึงทําให้เด็กที่นี่มีพัฒนาการทางภาษาไทยช้ากว่านักเรียนที่เรียนในพื้นราบที่ผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียน โดยในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน 757 คน ในจํานวนนี้เป็นนักเรียนประจําพักนอน จํานวน 506 คน

ด้าน ผู้บริหารโรงเรียนล่องแพวิทยา ก็มีความเป็นผู้นำทางวิชาการสูง มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และการบริหารจัดการหลักสูตรอย่างมีคุณภาพ ในช่วงภาวะปกติ ส่วนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการจัดรายวิชาเพิ่มเติม และจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ส่งเสริมด้านอาชีพ จำนวน 5 กลุ่มอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านอาชีพให้กับนักเรียนหลังจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม กลุ่มอาชีพคหกรรม กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพพาณิชยกรรม และกลุ่มอาชีพบริการ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางโอกาสให้กับนักเรียนและครู

ขณะที่ ครูผู้สอนโรงเรียนล่องแพวิทยา ก็มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ โดยมีการออกแบบทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการการเรียนรู้กับชีวิตจริง บนความแตกต่างของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมบูรณาการ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาชุดการสอน มีการพัฒนาการอ่านการเขียนของนักเรียนชนเผ่า ด้วย “กิจกรรมทวิภาษา” ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และไม่หลุดจากระบบการศึกษากับ “กิจกรรมครูหลังม้า” รวมทั้งมีการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และใช้การประเมินผู้เรียนอย่างหลากหลายและรอบด้าน โดยพิจารณาจากผลงาน ทักษะกระบวนการ พัฒนาการการเรียนรู้ และแฟ้มสะสมงานของนักเรียน

ในส่วนของ นักเรียนโรงเรียนล่องแพวิทยา เอง ก็มีความรู้ตามหลักสูตร ด้วยผลจากการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน และกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทำให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ทั้งการประกอบอาชีพจากร้านกาแฟในโรงเรียน ทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน อีกทั้งนักเรียนมีความสามารถในการเล่นดนตรีจากการจัดวงดนตรีสากลสามชนเผ่า มีกิริยามารยาทที่ดี ยิ้มแย้ม ไหว้ ทักทาย ร่าเริงแจ่มใส และสามารถอยู่ร่วมกับคนรอบข้างได้อย่างมีความสุข รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และซาบซึ้งใจในการดูแลเอาใจใส่ของโรงเรียน ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนต่างยึดมั่นในการทำความดีตามปณิธานที่ได้รับพระบารมีจากพระองค์ท่าน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

จากการพูดคุยและถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนล่องแพวิทยาในวันนี้ ทำให้ทราบว่า ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนภูเขาสูง มีอุปสรรคทางด้านภาษาที่ทําให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาไทยช้ากว่านักเรียนที่เรียนในพื้นที่ราบ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้บริหารและคณะครูเกิดความย่อท้อ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน การทำสื่อต่าง ๆ ที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ส่งเสริมด้านอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ในระหว่างเรียน ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการเรียนการสอนแบบ โรงเรียน Stand-alone ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง คณะทำงาน ONE TEAM ของ สพฐ. ได้ให้ข้อเสนอแนะ เติมเต็ม เสริมหนุนในสิ่งที่โรงเรียนยังขาดอยู่ พร้อมกับเตรียมนำข้อมูลที่ได้จากการถอดบทเรียนในครั้งนี้ ไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

RANDOM

ห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ สสส. เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดคลิปโดนโดนบนแพลตฟอร์ม TikTok และ Youtube หัวข้อ “บอกผู้ว่าฯ ของเราเรื่องฝุ่นทีว่า…” ชิงเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

วิศวะ สจล. สุดเจ๋ง! คิดค้น “เครื่องผลิตออกซิเจนการแพทย์กำลังสูง…แบบเคลื่อนที่ได้” ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง ยกระดับการรักษารพ.ขนาดกลางและขนาดเล็ก เพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วยวิกฤต

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!