การต่อสู้ครั้งเดียวที่ได้เห็น ศึกชิงประมุขบ้านอัมพวัน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ตามประวัติศาสตร์วงการกีฬา ที่กล่าวถึงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรกีฬาที่เกิดขึ้น เพื่อประสานงานกับ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล เพื่อดำเนินงานในประเทศไทย  ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2491 จนถึงปัจจุบัน ที่มาของผู้ที่จะได้รับตำแหน่งประมุขขององค์กรกีฬานี้ หรือที่เรียกว่า ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ นั้น แทบจะไม่มีอะไรที่หวือหวาให้น่าติดตามเลย

ยกเว้นช่วงเดียว คือ ช่วงที่ “บิ๊กเหวียง” พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ซึ่งตอนนั้นนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของไทยมาแล้ว 1 สมัย คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2544 และ เมื่อหมดวาระแรก จะมีการเลือกผู้นำกันใหม่ ที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2544 ที่วงการกีฬาตอนนั้นเงียบสงบ พร้อมทั้งคาดหมายกันว่า “บิ๊กเหวียง” จะต้องได้เป็นผู้นำองค์กรนี้ ที่เราคุ้นกันเรียกว่า “บ้านอัมพวัน” ต่อเป็นสมัยที่สองอีก 4 ปี แน่นอน เพราะช่วงนั้นผลงานดี และไม่มีใครที่จะคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง

สื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้ค้นหา นำเสนอเมื่อ 12 มีนาคม 2544 ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งคณะทำงาน ในการประชุมใหญ่ ก่อนที่จะรู้ว่าใครจะได้เป็นประธานโอลิมปิกไทย เพียงไม่ถึงสิบวันนั้น ยังระบุว่า “บิ๊กเหวียง นอนมาประมุขบ้านอัมพวัน” และได้มีคำสัมภาษณ์บิ๊กเหวียง ที่ยืนยันพร้อมและมองอนาคตการทำงานว่าจะพัฒนาด้านไหนบ้าง

นั่นแสดงว่า ยังไม่มีกระแส อะไรที่จะมากระทบถึงท่านเลย

ข่าวช่วงนั้นเงียบกริบ เนื่องจากทุกคนที่ติดตาม แม้แต่สื่อเองยังปล่อยวางการติดตาม เพราะคิดว่าคงง่ายเหมือนเดิม ไม่รู้ว่ามีคลื่นใต้น้ำที่เดินเกม เพื่อที่จะล้มคณะทำงาน-กรรมการบริหารชุดเดิม ที่นำโดย พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกไทย และเป็นที่รู้กันว่า เป็น “เจ้าของพื้นที่” ตัวจริง ประเภทกำหนดใครก็ได้มาทำงาน (ไม่ใช่เป็นข้อเสียนะครับ เพราะบางทีวงการกีฬาเราต้องใช้การจัดการอย่างนี้)

การคิดล้มครั้งนี้ เป็นการรวมตัวเพื่อล้มคณะทำงานเก่า แต่เป้าหมายคือ ยังจะชู “บิ๊กเหวียง” ทำหน้าที่ประมุขบ้านอัมพวันเช่นเดิม

ตามสายข่าวที่สื่อเขียนถึงกันในช่วงนั้นว่าอย่างนั้น

ข่าวมาดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการเดินเกมของทีมงาน “ที่คิดจะสู้นี้” มีเล็ดลอดออกมา มีการนัดคุยกันที่นั่นที่นี่ มีการเชิญผู้ที่มีเสียงคงคะแนน เพื่อล็อบบี้ขอเสียงวันเลือกตั้ง แต่คนชอบที่จะเดินตามก็มี คนที่ไม่อยากหักทีม “บิ๊กจารึก”ก็มี เรื่องเลยไม่เงียบอยู่แค่กลุ่มที่คิดจะพลิกอำนาจ

หนังสือพิมพ์ออกข่าวก่อนการประชุมใหญ่ที่มีวาระสำคัญ คือ การเลือกตั้งแค่วันเดียว (20 มีนาคม 2544) ระบุชัด ๆ เลยว่า “ศึกอัมพวัน ชิงกันเดือด” โดยเนื้อหาก็คือ บิ๊กจารึกยอมรับว่าจะมีการแย่งอำนาจ และประกาศชนขบวนการใหม่ เพื่อวัดดวงใครจะชนะ

โดยในเนื้อหาของข่าวนั้น มีชัด ๆ ว่า พลตรีจารึก กล่าวว่า มีขบวนการหักหลังกันเกิดขึ้น เพื่อจะรวบอำนาจไปดำเนินการ และบอกว่ารู้ตัวทั้งหมด ซึ่งเป็นคนกันเองทั้งนั้น  ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานั้น คนกีฬาทำงานกันอย่างปรองดองมาตลอด จึงประกาศเลยว่าพร้อมสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

นั่นคือ เรื่องราวการต่อสู้ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการแย่งชิง “ประมุขบ้านอัมพวัน” ตั้งแต่อดีตจนมาถึงวันนั้น และสื่อกีฬา ระบุว่า คืนก่อนวันที่จะมีการประชุมเลือกตั้งวันเดียวนั้น ทั้งสองฝ่ายตั้งวอร์รูม เพื่อเตรียมสู้ศึกกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะล็อคการลงคะแนนในการเลือกตั้งนั้นอยู่ในกลุ่มตัวเอง (การเลือกตั้งนี้จะต้องเลือกกรรมการก่อน ก่อนที่กรรมการจะไปเลือกประธาน)

และวันประชุมใหญ่ คือ วันที่ 21 มีนาคม 2544 ก็มาถึง โดยใช้ห้องที่โรงแรมเรดิสัน เป็นสถานที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ใช้ที่นั่นเป็นวอร์รูมก่อนการเลือกตั้ง แต่คนละชั้นคนละห้องกัน

“เหวียงเก้าอี้หัก บิ๊กอ๊อดเสียบ” เป็นผู้นำบ้านอัมพวันคนใหม่ “จารึกชนะขาด” นี่คือประเด็นพาดหัวของสื่อ หลังจากการประชุมครั้งนั้นเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าอะไรเป็นอะไรครบถ้วน

โดยผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งนั้น 46 เสียง จากกรรมการบริหารชุดเก่า 20 เสียง กรรมการจากสมาคมกีฬาต่าง ๆ ที่โอลิมปิกไทยรับรอง 25 เสียง และ ตัวแทนโอลิมปิกสากลของไทยอีก 1 เสียง

ซึ่งทุกเสียงจะต้องเลือกกรรมการที่เสนอรายชื่อมาทั้งหมด 25 คน และ 25 คน ที่ได้คะแนนสูงสุดนี้ จะไปเลือกประธานและแบ่งตำแหน่งหน้าที่กันหลังจากนั้น

ผลการลงคะแนนวันนั้น 21 คน ไม่มีปัญหา (เป็นกรรมการแน่ ๆ โดยตำแหน่ง 1 คน คือ ตัวแทนโอลิมปิกสากลของไทย) แต่ หากอีก 3 คน มีปัญหา เพราะได้คะแนนเท่ากันคือ 24 คะแนน 4 คน เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ 1 ใน 4 คน ที่มี 24 คะแนน ก็ขอถอนตัวจากการที่จะได้รับการพิจารณาต่อ จึงเป็นอันว่าได้ กรรมการครบทั้ง 25 คน….จบ

ส่วน “บิ๊กเหวียง” ที่กำลังกลายเป็นอดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทย ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการด้วยในคราวนั้น ได้คะแนนเพียง 21 คะแนน จึงไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ

และจากเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วนั้น จึงเป็นที่รู้กันว่า “บิ๊กเหวียง” ที่ถูกเชียร์จากอีกฝ่าย คงไม่ถูกเลือกมาเป็น “ประมุขบ้านอัมพวัน” ต่ออีกวาระแน่นอน

และจากนั้น ก็เป็นจริง เมื่อกรรมการส่วนใหญ่เลือกที่จะเสนอชื่อ “บิ๊กอ๊อด” พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ตอนนั้นเป็นนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ต่อจาก “บิ๊กเหวียง” และ บิ๊กอ๊อด ที่มีข่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ และไม่อยากเห็นความขัดแย้งนี้ ก็เดินเข้ารับตำแหน่ง

พลตรีจารึก ได้กล่าวหลังงาน และหลังจากเคลียร์ทุกอย่างแล้ว แม้จะพ้นวันนั้นมาเป็นสิบปีว่า ตนเองเป็นคนเชิญบิ๊กเหวียงมาในสมัยแรกเอง ตนเองรู้อะไรดี ท่านเป็นสุภาพบุรุษกีฬาอย่างแท้จริง เรื่องนี้มีปัญหามากมายจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย “ผมยังไปไหว้ปีใหม่ท่านทุกปีที่ผ่านมา”….

Station-THAI ก็ขอบันทึกเรื่องราวในเหตุการณ์ที่ได้ปรากฏนี้ไว้เท่านี้ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อใครอยู่ฝั่งไหนบ้าง ทั้งที่มีบันทึกจากสื่อไว้หมด แต่เพราะเชื่อว่า “คนวงการกีฬา” ล้วนเป็นผู้เสียสละ มีสปิริต และการแข่งขันในวงการกีฬา มีแพ้ มีชนะ ก็เป็นเรื่องธรรมดา…จึงควรจำแต่เหตุการณ์ก็พอครับ

 

 

RANDOM

error: Content is protected !!