กับประเด็นที่มีนักกีฬาทีมชาติ บ่นระทมใจ เพราะมีเงินเดือนน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานขั้นต่ำเสียอีก…ที่นี่มีคำตอบ และ มีทางออกให้ครับ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     เรื่องไม่ร้อนมาก กับประเด็นเรื่องเงินเดือนนักกีฬา ที่มีอดีตนักกีฬาทีมชาติ และนักกีฬาปัจจุบันออกมาพูดถึง ดั่งน้อยอกน้อยใจว่า เงินเดือนน้อยกว่า คนงานที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่จะได้ต่อเดือนอีก

     “ไม่รู้จริงหรือ ไม่เข้าใจ หรือมีวาระอะไรซ่อนเร้นไม่รู้”

     แต่ขอเล่าถึง “เรื่องเงินเดือนนักกีฬาก่อน”

     สรุปเริ่มต้นก่อนเลยเรื่องเงินเดือนนักกีฬาไม่เคยมีครับ

     เพราะวงการกีฬาไทย นักกีฬาสมัครเล่น หรือ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศนั้น เขาไม่มีการให้เงินเดือนเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ในส่วนของนักกีฬาของสมาคมกีฬาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสมาคมกีฬาซึ่งลงท้ายด้วยแห่งประเทศไทย ของนักกีฬาปกติ และ นักกีฬาคนพิการ

     และขอสรุปง่าย ๆ ต่ออีกก็คือ…เงินที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาทีมชาติ จะมีก็แต่เป็นเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าที่พัก (ซึ่งให้เป็นรายหัว ต่อวัน) และ อีกส่วนคือ เงินรางวัลหากว่ามีผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทุกบาททุกเม็ดนั้นมาจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่จัดให้

     ซึ่งการจ่ายเบี้ยเลี้ยง-ค่าอาหาร-ค่าที่พัก นั้นก็จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงเก็บตัวก่อนการแข่งขัน และช่วงแข่งขัน โดยระยะเวลา (จำนวนวัน) เก็บตัวก่อนการแข่งขันยาวสั้นมากน้อยก็แล้วแต่ระดับการเข้าร่วม อย่างเช่น หากเตรียมเข้าแข่งโอลิมปิกเกมส์-โลก ก็ยาวมาก ระดับเอเชี่ยนเกมส์-เอเชีย ก็กลาง ๆ และ ระดับซีเกมส์-อาเซียน ก็ระยะเวลาสั้นหน่อย

     ที่ผ่านมา การเตรียมนักกีฬาระดับชาติก็จะมีช่วงเวลาซ้อน ๆ กันในบางชนิดกีฬาที่มีแข่งในงานกีฬาช่วงเวลา ใกล้เคียงกันบ่อยๆ จึงไม่แปลกที่นักกีฬาของบางสมาคมกีฬานั้นจะมีการเก็บตัวทั้งปี ทั้งกีฬาคนปกติ และกีฬาคนพิการ เพราะเตรียมงานนี้ไปส่งแข่งเสร็จก็กลับมาเตรียมแข่งรายการอื่น ๆ ต่อๆ กันไป

     เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเข้าใจได้ว่า ที่นักกีฬาบางคนพูดถึงเรื่องที่เป็นประเด็นมานี้ จึงน่าเป็นการจัดการของสมาคมกีฬานั้น ๆ ที่จะนำเบี้ยเลี้ยง รวม ๆ ไปจ่ายให้กับนักกีฬา 1 เดือนต่อครั้ง (จะ 30 วันหรือ 31 วันก็แล้วแต่เดือน)

     Station THAI ที่นี่ขอให้ข้อมูลว่า ตามประกาศของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่ประกาศในปี 2563 นั้น ระบุว่า การเก็บตัวฝึกซ้อมภายในประเทศ ค่าเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเหมาจ่าย ไม่เกิน 600 บาท/คน/วัน และ ค่าที่พักเหมาจ่าย 300 บาท/คน/วัน  (รวม 900 บาท) และอีกข้อที่ระบุคือ การฝึกซ้อมของนักกีฬา แบบที่ไป-กลับ นั้น นักกีฬาจะได้ไม่เกิน 300 บาท/คน/วัน

     ซึ่งหากเป็นช่วงเก็บตัวรอการแข่งขันจริง ๆ นั้น สมาคมส่วนใหญ่จะใช้การเก็บตัวแบบอยู่ร่วมกันประจำ และขอเบิกงบ 900 บาทต่อวันเพื่อนักกีฬา จากการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามประกาศของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ทีนี้เมื่อได้งบแล้วนั้น การจัดการของสมาคมกีฬานั้น ๆ จึงเกิดขึ้นกับทีมกีฬาของตนเอง

     ที่มีค่าใช้จ่ายที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอาหารตามโภชนาการ ค่าน้ำ ค่าเครื่องดื่มเสริม ค่าเดินทางไปสนามซ้อม (ถ้ามี) ค่าตอบแทนคู่ซ้อม และ ค่าอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการดูแลทีมนักกีฬาตัวเอง ซึ่งสมาคมใหญ่ ๆ ที่มีเงินถัง ไม่ลำบากแน่ ในการควักเองทั้งหมด แต่จะมีกี่สมาคมกีฬาที่มีเงินหนุนจนล้นกระเป๋าสำหรับเมืองไทย

     ฉะนั้นจึงเป็นที่มา ในการที่สมาคมส่วนใหญ่จะขอแบ่งจากค่าเหมาจ่ายนักกีฬาต่อวัน 600 บาท มาเป็น เบี้ยเลี้ยง วันละ 300 ค่าอาหาร วันละ 300 บาท  ยกเว้นบางสมาคมที่มีผู้สนับสนุนมาก ก็จะจัดการที่แตกต่างไป บางสมาคมอาจจะให้นักกีฬาทั้งหมด 600 บาทหรือมากกว่านั้นก็ได้ และก็เชื่อว่ามีคือ บางสมาคมอาจจะขอแบ่งมากกว่านั้น เพื่อที่จะนำไปให้คู่ซ้อม หรืออื่น ๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบมา ซึ่งการจัดการในเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจทางสมาคมกีฬา เพราะเป็นความจำเป็น เนื่องจากว่า นักกีฬาต้องกิน อยู่ร่วมกัน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่สมาคมต้องรับผิดชอบ ที่บางครั้งการเก็บตัวนั้น ส่วนเกินที่มีขึ้นและไม่มีงบหนุนนั้น ผู้ที่อยู่ไม่ได้ก็เป็นสมาคม

     นี่คือการยกตัวอย่าง ของการจัดการในสมาคมกีฬาไทย ที่เป็น กลุ่มกีฬาสมัครเล่น ในการดูแลทีมนักกีฬาของตัวเองช่วงเก็บตัว

     ในการที่นักกีฬาที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คงสรุปจากรายได้ที่สมาคมจ่ายให้รวมๆ รายวันแล้วจ่าย 1 เดือนครั้ง ตามที่ได้จากการจัดการ โดยมองแค่เงินที่ได้ แต่ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ได้อื่นๆ หรือมองรอบ ๆ มากกว่านี้ ที่หากจะพูดกันจริงๆ แล้ว (คุณอาจจะลืม) คือ “คุณได้มากกว่าสิ่งที่คุณเปรียบเทียบมาก” เช่น เทียบง่ายๆ คือ ผู้ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำนั้นเขาได้เงินมา เขาต้องไปหากินและจ่ายเอง หาที่พักเองและจ่ายเอง แล้วเขาเหลือเท่าไหร่เฉลี่ยต่อวัน และนี่ไม่นับสิทธิที่คุณได้ ในการเป็นทีมชาติ ที่วันนี้มีมากมายพอตัว (อย่าให้เหลาแยะเลย)

     ซึ่งในสถานะนักกีฬาทีมชาติ ที่เก็บตัวและร่วมแข่งในนามทีมชาติ นักกีฬาทุกสมาคมหลายร้อยคนวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนกันหมด ในฐานะนักกีฬาสมัครเล่น ที่ต้องยอมรับว่า นักกีฬาบางกลุ่มนั้น ได้สิทธิทุนเรียนฟรี (บางคนได้ตั้งแต่ยังไม่ติดทีมชาติ มีทั้งทุนให้ตั้งแต่ประถม จนปริญญาเอก) ได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนไปพร้อม ๆ กับได้เบี้ยเลี้ยงทีมชาติ ได้เงินรางวัลจากการแข่งขัน ได้นำชื่อเสียงทีมชาติไปต่อยอดอื่น ๆ แม้แต่การก้าวสู่ต่อสู่ระดับอาชีพก็มี… แต่สิ่งที่ดี ๆ อาจจะไม่มีสำหรับบางคน เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง แต่บอกตรง ๆ คือที่ผ่านมามีส่วนน้อยมากที่บ่นเรื่อง “ที่ควรได้” จากการเล่นทีมชาติอย่างนี้ ที่มุ่งเป้าไปที่รายได้อย่างเดียว  

      ที่เขียนถึงเรื่องนี้เพราะยอมรับว่าเราเองไม่เห็นด้วยกับ “การคิดเช่นนี้”  และยังเชื่อว่าผลได้ของทุกคนที่เข้ามาร่วมทีมชาตินั้นมากกว่า ความรันทดที่ได้ฟัง

     แต่อย่างไรก็ดี ถ้านักกีฬาจะมองเรื่องความว้าวุ่นใจในเงินอย่างเดียว…ที่นี่มีทางออกครับ สำหรับนักกีฬาที่กำลังคิดเช่นนี้แบบจริงจัง เพราะ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และกกท.เองก็อยากให้นักกีฬาสะดวกใจ สบายกายอยู่แล้ว เราจึงขอเสนอว่าตามสิทธิของคุณที่ต้องได้รวมวันละ 900 บาทนั้น คุณจะได้รับเต็มแน่นอน เพียงแต่ในช่วงเก็บตัวรวมกัน คุณไปบอกกับทางสมาคมกีฬาสังกัดของคุณว่าในช่วงเก็บตัว คุณจะหากินเองไม่กินอาหารที่สมาคมจัดให้กับเพื่อนๆ และจะหาที่พักเองไม่พักกับเพื่อนร่วมทีมในที่ๆ สมาคมจัดให้…ง่ายๆแค่นี้เอง

     “แล้วคุณจะได้เต็มๆ วันละ 900 บาท” และเมื่อรวมแล้วคุณจะมีรายได้ดีกว่าคนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน.

RANDOM

จุฬาฯ จับมือ University of Sheffield ประเทศอังกฤษ ตั้งศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งพัฒนาวัคซีนคุณภาพสูง ตอบสนองการรักษาโรคที่แพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

NEWS

“ครูมวยไทย” เนื้อหอม เตรียมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่าง 7-9 พ.ค.นี้ หลังได้ใบประกาศนียบัตร ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!