สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดทิศทางใหม่ มุ่งยกระดับระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิด ‘ลดภาระ เพิ่มคุณภาพ’ พร้อมพัฒนาผู้ประเมินภายนอกสู่บทบาท ‘ที่ปรึกษาคุณภาพ’ และสร้างกลไกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ทิศทางและแผนการดำเนินงานของ สมศ. ต่อไปนี้ จะเป็นการมุ่งประเมินเชิงส่งเสริม สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงผลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ สมศ. เป็นหน่วยตรวจประเมินคุณภาพภายนอกระดับชาติ ที่ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ด้วยแนวคิด “ลดภาระ เพิ่มคุณภาพ” ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การปรับบทบาทผู้ประเมินภายนอก และกลไกความร่วมมือเชิงรุกกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สมศ. ได้รับเสียงสะท้อนจากสถานศึกษาว่า การประเมินเป็นภาระ ใช้เวลามาก ต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพัฒนาอย่างแท้จริง สมศ.จึงได้พลิกโฉมการดำเนินงาน ปรับกระบวนการโดยลดจำนวนวันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหลือเพียงวันเดียว นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล และใช้ “ซอฟต์ไฟล์” (Soft file) จากหน่วยงานต้นสังกัด ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้รบกวนการเรียนการสอน เป็นการเปลี่ยนภาพจำเก่า สู่ระบบประเมินที่ยืดหยุ่น เข้าถึงง่าย และสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ได้จริง
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ สมศ. วางเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพระบบประเมินและสถานศึกษา โดยแบ่งเป็น 3 แกนหลักขับเคลื่อนภารกิจเพื่ออนาคต ได้แก่
1. ยกระดับผู้ประเมินภายนอก ปรับบทบาทจากผู้ตรวจสอบมาเป็น “ที่ปรึกษาคุณภาพ” สร้าง “ผู้ประเมินภายนอกโฉมใหม่” ที่มีความรู้ ความสามารถ และจริยธรรม โดยมีแผนสรรหาเชิงรุกจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา และข้าราชการครูที่กำลังเกษียณอายุราชการ เพื่อเข้าสู่ระบบประเมิน ภายในปี 2569
2. พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบวิเคราะห์ผลแบบ Real Time โดย สมศ. อยู่ระหว่างนำร่องระบบกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมีแผนขยายความร่วมมือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และหน่วยงานต้นสังกัดอื่น ๆ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถป้อนข้อมูลประกันคุณภาพได้ด้วยตนเอง รวมถึงการรวบรวมผลการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงนโยบายมาสรุปและแสดงผลให้อยู่ในหน้าจอเดียว (แดชบอร์ด) ที่เข้าใจ และใช้งานง่าย ในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงจุด เป็นการเปลี่ยนข้อมูลเป็นนโยบายพัฒนาที่จับต้องได้ เช่น การระบุจุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละประเภทสถานศึกษาอย่างชัดเจน เชื่อมโยงสู่การนิเทศ และการวางนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพได้อย่างตรงจุด เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กระทรวง หน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
3. สร้างกลไกความร่วมมือเชิงรุกกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ สมศ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง สมศ. กับ หน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลาง 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในฐานะ “ศูนย์ประสานงาน สมศ.” จำนวน 30 แห่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษาภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประกันคุณภาพภายนอกไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้ข้อเสนอแนะที่เหมาะสมในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ทั้งนี้ การดำเนินการจะไม่เพิ่มภาระแก่สถานศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาจัดทำกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจรควบคุมคุณภาพ (PDCA)
“สมศ. คาดหวังว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นจริงในทุกพื้นที่ โดยตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2570 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินภายนอกรูปแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ หากสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมศ. จะก้าวข้ามจากบทบาทผู้ประเมิน ไปสู่การเป็น “หุ้นส่วนพัฒนาคุณภาพการศึกษา” อย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าในฐานะ สมศ. โฉมใหม่ที่ร่วมขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทย” ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย