“ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน จนบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกชักนำโดย AI และหุ่นยนต์ อยู่ เช่น เมื่อเราต้องการค้นหาร้านอาหารหรือสินค้า เรามักจะได้รับคำแนะนำจาก Influencers หรือ การแนะนำต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ คือ อัลกอริทึม AI ที่เรียนรู้จากพฤติกรรมของเราและพยายามที่จะแนะนำหรือชักจูงให้เราทำตาม เช่น ไปกินข้าวร้านที่แนะนำ หรือ ซื้อของตามคำแนะนำ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจ คือ “ใครควบคุมใครกันแน่” ระหว่างมนุษย์ กับ หุ่นยนต์และ AI ดังนั้น การจะใช้ประโยชน์จาก AI เราควรต้องทำอย่างไร และต้องระวังอะไรบ้าง และหากเราเป็นผู้ควบคุม เราจะต้องรู้เท่าทันในเรื่องนี้อย่างไร” ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าว
ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง
“หุ่นยนต์ไม่กัด : เปิดโลกหุ่นยนต์และ AI แบบสนุก เข้าใจง่าย” จัดขึ้นโดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดมุมมองและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และหุ่นยนต์ สำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มครอบครัว เด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันหุ่นยนต์และAI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์และรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยกิจกรรมไฮไลท์ภายในงาน พบกับ การสัมผัสประสบการณ์ที่จะเชื่อมทุกท่านเข้ากับโลกเสมือนจริงผ่านแว่นตา HoloLens การจัด Workshop การแสดงผลงาน และเวทีเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ “หุ่นยนต์และ AI เราคุมมัน หรือ มันคุมเรา?”, “เรียนหุ่นยนต์ อนาคตไปไหน?” และ “จากเกิดจนโต AI ทำอะไรกับลูกคุณบ้าง?” โดยทีมอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์จากฟีโบ้
ผศ.ดร.สุภชัย กล่าวว่า จะเห็นว่าคนเรากับหุ่นยนต์และ AI ใกล้กันมากขึ้น แต่หลาย ๆ ครั้งเราก็ยังกลัวมันอยู่ จนไม่กล้าที่จะไปเรียนรู้ ฟีโบ้จึงอยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับมันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่จะไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต เราจึงอยากให้กลุ่มนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และ AI เพิ่มมากขึ้น และเป้าหมายหนึ่งของงาน คือ การช่วยให้ผู้คนได้รู้เท่าทัน และเข้าใจว่า จะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไร เพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้น มากกว่าแค่กังวลว่า AI จะมาแย่งงาน แต่ประเด็นที่เราควรพูดถึงตอนนี้ คือ จะปรับตัวอย่างไร จะใช้หุ่นยนต์และ AI อย่างไรให้เกิดประโยชน์ เพื่อทำให้ชีวิตของคนเราดีขึ้น เพราะถ้าใช้ AI อย่างไม่ถูกต้อง อาจมีผลเสียได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ (awareness) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กในยุคดิจิทัล
เนื่องจาก AI อยู่ในทุกที่ สำหรับเด็กที่เกิดมาในยุคปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มี AI จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “จากเกิดจนโต AI ทำอะไรกับลูกคุณบ้าง?” ฟังดูอาจน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่อยากเน้นให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของ AI ในบริบทของการเรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของการเรียน และเน้นความสำคัญของการสอนให้ใช้ AI เป็นเพียงผู้ช่วย ยกตัวอย่างปัญหาการใช้ AI ในการทำการบ้านของเด็กและการตรวจการบ้านของครู ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ AI เก่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเรียนรู้ของคนกลับถดถอยหรือแย่ลง หากไม่ได้ใช้ความคิดหรือทักษะ ในการเรียนการสอนเราไม่ควรใช้ AI เพื่อเอาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมีการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) เพื่อตัดสินว่าสิ่งที่ AI ตอบนั้นถูกต้องหรือไม่ และมีอะไรที่เราต้องตัดสินใจเอง ในยุคของ AI คนจะต้องใช้ความคิดมากขึ้น ไม่ใช่ให้ AI เป็นคำตอบสุดท้าย และต้องสอนให้รู้จักตั้งคำถามกับ AI ให้เป็น
ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ ยังได้กล่าวถึงการเรียนหุ่นยนต์ว่า การเรียนหุ่นยนต์นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่เปิดกว้างกว่านั้นมาก เช่น การเป็น Robotic Engineer ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบควบคุมหุ่นยนต์และ AI ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ, การเป็น Researcher หรือ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยหุ่นยนต์ขั้นสูง หรือ การเป็น Entrepreneur ในสายงานหุ่นยนต์ ยกตัวอย่างบุคคลและบริษัททั้งในไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องในระดับโลก เช่น Marc Raibert (ผู้ก่อตั้ง Boston Dynamic), Rodney Brooks (ผู้ก่อตั้ง iRobot, Rethink Robotics) เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน ได้รับประสบการณ์และเปิดมุมมองเกี่ยวกับหุ่นยนต์และ AI ได้เรียนรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความตระหนักรู้ ถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อย่างไม่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อที่เราจะเป็นผู้ควบคุมและใช้ AI เป็นเครื่องมืออย่างแท้จริง แทนที่จะถูกควบคุมหรือพึ่งพา AI จนเสียความสามารถของตนเองไป
“การรู้เท่าทัน จะช่วยให้เข้าใจว่า AI ไม่ได้น่ากลัว หรือ “กัด” อย่างที่คิด แต่ควรใช้มันอย่างถูกวิธี และระวังผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม”