สจล. พานวัตกรอวดไอเดียโชว์ของ ‘แบตเตอรี่กราฟีน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม , อีเซีย (EASEA) ลูกประคบไฮเทค – อีวีทัล (eVTOL) ระบบเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและดิจิทัล’ ดันนวัตกรรมไทยสร้างชื่อในเวทีโลก งาน CES 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KMITL Research and Innovation Services : KRIS) นำ 3 นวัตกรรมและสตาร์ตอัพไทย ได้แก่ แบตเตอรี่กราฟีน โดย ทีม K2, อีเซีย (EASEA) ลูกประคบไฮเทค โดย ทีม Electron Plus และ อีวีทัล (eVTOL) ระบบสำรวจทางอากาศยานไร้คนขับ โดย ทีม eVTOL โชว์ผลงานนวัตกรรมเด่นฝีมือคนไทย ในงาน ‘Consumer Electronics Show (CES) 2024’ ศูนย์รวมเทคโนโลยีโลกที่ธุรกิจอุตสาหกรรมและสตาร์ตอัพต่างรอคอย ณ เมืองลาสเวกัล รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มุ่งสร้างกำลังคนที่มีทักษะเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย และศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ จาก โครงการ Deep Tech Acceleration ของ สจล. ผลักดันให้นวัตกรและสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ของไทยได้แสดงศักยภาพสู่โอกาสการสร้างธุรกิจบนเวทีและตลาดโลก เป็นที่น่ายินดีกับนวัตกรรม Deep Tech ทั้ง 3 ทีม จากประเทศไทย ได้รับความสนใจจากผู้ชมงานและนักธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากในเวทีโลก ในงาน ‘Consumer Electronics Show (CES) 2024’ ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์และภูมิทัศน์แห่งเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมเทคโนโลยีส่วนบุคคล โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ และอื่น ๆ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ จัดครั้งแรกที่นครนิวยอร์ค เมื่อปี 1967 และพัฒนาก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นงานที่ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมต่างรอคอย มีผู้แสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีกว่า 4,000 ราย ทั้งแบรนด์ดัง สตาร์ตอัพ นวัตกรชั้นนำระดับโลก นักธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้นำภาครัฐ ตื่นตาตื่นใจกับการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย การเปิดตัวใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่น่าทึ่ง รวมทั้งแบรนด์ดัง อาทิ อเมซอน กูเกิ้ล ซัมซุง แอลจี ฮอนด้า ลอรีอัล งานปีนี้ยังประกาศความร่วมมือระหว่างสมาคมคอนซูเมอร์เทคโนโลยีกับแคมเปญสหประชาชาติ โดยได้เพิ่ม ‘เทคโนโลยี’.ให้เป็นเสาหลักที่ 8 ความมั่นคงของมนุษย์ทุกคน ‘Human Security for All’ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสนับสนุนให้ 7 เสาหลักเดิมประสบความสำเร็จรวดเร็วไปด้วยกัน ได้แก่ Food Security , การเข้าถึงการรักษาพยาบาล , ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ , การปกป้องสิ่งแวดล้อม , การเดินทางและความปลอดภัยส่วนบุคคล , ความมั่นคงในชุมชน , เสรีภาพของการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนการเข้าถึงเทคโนโลยี

ด้าน ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวต่อว่า สำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง Deep Tech ฝีมือคนไทยที่ สจล. นำมาจัดแสดงในงาน CES 2024 ได้รับความสนใจและการตอบรับอย่างมากจากนานาชาติ ได้แก่ 1. แบตเตอรี่กราฟีน (Graphene Battery) โดย ทีม K2 โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่พลังงานสะอาด ใช้วัตถุดิบและผลิตในประเทศไทยได้ 100% สามารถใช้โมเดล BCG นำของเสียจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบใหม่ได้อีกครั้ง ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาไม่ถึงปีในการพัฒนาจนได้ต้นแบบที่ใช้งานได้จริง และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์โดยภาคอุตสาหกรรม บ.ซัน วิชั่น เทคโนโลยี เร็ว ๆ นี้ ‘แบตเตอรี่กราฟีน’ โดดเด่นด้วยคุณสมบัติพิเศษ กักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น มีอัตราการอัดประจุที่รวดเร็วขึ้น ไม่ร้อน ไม่ระเบิด ปลอดภัย และอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตเตอรี่แบบเดิม ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาด และความยั่งยืน หนึ่งในเทรนด์ของ CES 2024

2. อีเซีย (EASEA) ลูกประคบไฮเทค โดยสตาร์ตอัพ ทีม Electron Plus นวัตกรรมใหม่ที่รวมคุณสมบัติโดดเด่นของภูมิปัญญาวิธีการนวดไทย ทั้งการนวดร้อน นวดเย็น รวมถึงการนำมาใช้ร่วมกับ Aroma ที่เป็นสมุนไพรไทย โดยการนำเทคโนโลยีหลัก คือ Flexible Thermoelectric มาใช้ โดยเมื่อจ่ายไฟให้กับ ‘เครื่องนวดลูกประคบไฮเทค’ อีเซีย (EASEA) จะเกิดทั้งความร้อน และความเย็น ใช้นวดคลึงบริเวณที่ปวดเมื่อย มีหัวสองฝั่งด้านร้อนและด้านเย็น ด้านร้อนสามารถทำความร้อนได้สูงสุด 45 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีโหมดนำความร้อนเหลือทิ้งมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

และ 3. อีวีทัล (eVTOL) โดย ทีมอีวีทัล วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry : IAAI) โชว์ผลงานระบบเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและดิจิทัล เพื่อสำรวจจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุบัติภัย โดยใช้โดรนไฟฟ้าขับเคลื่อนในแนวดิ่ง ไร้เสียงรบกวน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่าย โดดเด่นด้วยการพัฒนา AI ของตนเอง เพื่อใช้ในงานสำรวจวิเคราะห์คาร์บอน ซึ่งมีสมรรถนะความสามารถเหนือกว่าหลายแบรนด์และหลายประเทศ และยังไม่มีประเทศใดคิดขึ้นมา

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!