ประกวดนวนิยาย รางวัลชมนาด Chommanard Book Prize (Novel) ครั้งที่ 13 ชิงเงินรางวัลพร้อมค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ถึง 30 เม.ย. นี้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ขอเชิญนักเขียนสตรีไทย ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดรางวัลชมนาด ประเภทนวนิยาย : Chommanard Book Prize (Novel) ครั้งที่ 13 ชิงเงินรางวัล พร้อมค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท

โครงการ Chommanard Book Prize ครั้งที่ 13 (Novel)

หลักการและเหตุผล

รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) คือ รางวัลแห่งความสำเร็จของสตรีที่มีใจรักในงานประพันธ์ เป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนก้าวเข้าสู่ครั้งที่ 13 ในปีนี้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงการรางวัลชมนาดได้ส่งเสริมนักเขียนทั้งมืออาชีพและมือใหม่ ซึ่งแต่ละท่านได้ฝากผลงานคุณภาพที่สร้างสรรค์จากมุมมองของผู้หญิง ในรูปแบบสารคดี (Non-Fiction) ที่ประพันธ์จากชีวิตจริง และถูกนำมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่สู่สายตานักอ่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน, พฤกษามาตา, ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน, เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน และ ขังหญิง

จากความสำเร็จดังกล่าว คณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาด ตระหนักดีว่า ความสามารถของหญิงไทยไม่ควรถูกตีกรอบ หรือมีพื้นที่หน้ากระดาษไว้สำหรับงานเขียนในรูปแบบสารคดีเท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ในปีที่ผ่านมา ได้กำหนดกติกาให้ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานประเภท “นวนิยาย” (Novel) เข้าร่วมประกวด ด้วยเล็งเห็นว่า วรรณกรรมประเภทนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านทุกรุ่น ทุกสมัย ตลอดจนยังไม่มีเวทีใดที่เน้นให้ได้แสดงออกเฉพาะนักเขียนสตรีอย่างเต็มที่

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จึงมีความปรารถนาและมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมงานประพันธ์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้กลุ่มนักอ่านทั่วไป ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของนักเขียนสตรีไทย เราเชื่อมั่นว่า มีหญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่รักงานวรรณกรรม โครงการรางวัลชมนาด จึงเปรียบเสมือนเวทีคุณภาพที่จะสานฝันเส้นทางสู่การมีอาชีพเป็นนักเขียนให้กับผู้หญิงไทยทุกคน

ขอเชิญชวนผู้ที่มีใจรักการอ่านและเขียนร่วมสนุกกัน ณ เวทีชมนาดครั้งที่ 13 ที่เปิดกว้างสำหรับงานสร้างสรรค์ประเภทนวนิยายครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการตอบรับจากนักเขียนหญิงไทยทั่วประเทศ

วัตถุประสงค์

– เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงได้แสดงออกถึงความสามารถ และชั้นเชิงในการเขียน
– ส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดันผลงานของสตรีไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากล
– ยกระดับวรรณกรรมไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
– สนับสนุน/ปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่าน และมีความริเริ่มที่จะเขียน

ผู้สนับสนุนโครงการ (เจ้าภาพร่วม)

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด

ประเภทของงานเขียนที่รับพิจารณาในครั้งที่ 13

นวนิยาย (Novel) ไม่จำกัดประเภท เขียนโดยนักเขียนสตรีไทย ผ่านการสร้างสรรค์เป็นอย่างดีเลิศ และมีความประณีตมากพอที่จะแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก

กติกาในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด

– เป็นงานเขียนที่แต่งขึ้นใหม่ โดยสร้างสรรค์เป็นภาษาไทย และต้องไม่เคยจัดพิมพ์เป็นเล่มที่ใดมาก่อน มีความยาวของเรื่องไม่ต่ำกว่า 120 หน้ากระดาษ A4 ขึ้นไป ขนาดตัวอักษร 16 Point โดยต้องพิมพ์และส่งต้นฉบับ พร้อมสำเนา รวม 2 ชุด พร้อมบันทึกไฟล์ต้นฉบับในแฟลชไดร์ฟ หรือ ส่งช่องทางอีเมล editor@praphansarn.com ทั้งนี้ คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ส่งคืนผลงานเข้าประกวดทุกสำเนา (รวมถึงต้นฉบับ) ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม
– ไม่ได้ลอกเลียน ดัดแปลง หรือ ละเมิดลิขสิทธิ์ จากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากงานสร้างสรรค์ของผู้ใด หากทราบว่า มีการลอกเลียน ดัดแปลง หรือ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด และต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบทางกฎหมายโดยลำพัง
– ผลงานต้องไม่เคยส่งประกวด หรือ เผยแพร่ในรูปแบบสื่อใด ๆ มาก่อน รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต หากมีการตรวจพบภายหลัง ผู้ส่งจะถูกตัดสิทธิ์รางวัลการประกวด และมีผลถึงการพิจารณาการส่งเข้าประกวดครั้งต่อไป
– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิ์ส่งผลงานได้เพียง 1 เรื่อง
– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องมีชีวิตอยู่ขณะที่ส่งผลงาน
– กรณีใช้นามปากกา หรือ นามแฝง ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องแจ้งชื่อ-นามสกุลจริง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ และสำเนาบัตรประชาชน ที่สามารถติดต่อได้สะดวก เพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับโครงการฯ
– ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รวมถึงผลงานอื่น ๆ ที่เข้ารอบพิจารณาตัดสิน บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด สงวนสิทธิ์ในการจัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นแห่งแรก ทั้งภาษาไทย และที่พิเศษ คือ ภาษาอังกฤษ (เฉพาะเล่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ) โดยจะอยู่ในสัญญาลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 7 ปี (เพราะต้องใช้เวลาแปลอย่างพิถีพิถัน)
– คณะกรรมการไม่รับพิจารณาผลงานที่ส่งเข้าประกวดของพนักงานบริษัทฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
– หากมีการตัดสินให้มีผลงานที่ได้รับรางวัล นอกเหนือจากรางวัลที่ได้กำหนดไว้ สำนักพิมพ์ขอสงวนสิทธิ์ในการเป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่ ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการมอบรางวัลชนะเลิศหรือไม่ก็ได้ กรณีผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ผ่านมาตรฐานการตัดสินของคณะกรรมการ
– การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาด แต่อย่างน้อยจะมีรางวัลรองชนะเลิศ จากผลงาน 5-9 เรื่องสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสิน
– ทางบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์การจัดพิมพ์เรื่องที่ส่งเข้าประกวดทุกเรื่องก่อนสำนักพิมพ์อื่น โดยทางบริษัทฯ ยินดีจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามสัญญาลิขสิทธิ์อันเป็นมาตรฐาน
– สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทางโครงการฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการส่งผลงานเข้าประกวดเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงจะมีโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอีกครั้ง

รางวัลในการประกวด

– รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล “รางวัลชมนาด” เงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเกียรติบัตรชมเชย จาก โครงการ Chommanard Book Prize พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และต้นฉบับจะได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่เพียงภาษาเดียว พร้อมค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานไทย
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับเกียรติบัตรชมเชย จาก โครงการ Chommanard Book Prize พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และต้นฉบับจะได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่เพียงภาษาเดียวพร้อมค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานไทย

ระยะเวลาของโครงการชมนาดครั้งที่ 13

– เตรียมโครงงานและประชาสัมพันธ์ ตุลาคม 2566
– แถลงข่าว 10 ตุลาคม 2566
– เปิดพิจารณาผลงาน 10 ตุลาคม 2566 – 30 เมษายน 2567
– คัดเลือกผลงาน 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567
– ตัดสินผลงาน กรกฎาคม – สิงหาคม 2567
– ประกาศผลรางวัล กันยายน 2567

สถานที่ส่งผลงาน และประสานงานโครงการ

โครงการ Chommanard Book Prize ครั้งที่ 13
บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170 โทร. 02-448-0312 , 02-448-0658-9 เว็บไซต์ www.praphansarn.com

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/MpFHm

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!