มูลนิธิสัมมาชีพ ชูหลักสูตร “ผู้นำ- นำการเปลี่ยนแปลง” บนแนวคิด “สัมมาชีพ – BCG” ทางรอดรับมือการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ในการอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” (Leadership for Change – LFC) รุ่นที่ 13 โดย มูลนิธิสัมมาชีพ ได้ให้ภาพการเชื่อมโยงของแต่ละภาคส่วน บนแนวทาง “สัมมาชีพ-BCG” ที่ว่าด้วยการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนโลก เป็นเศรษฐกิจ BCG  (Bio-Circular-Green Economy) 

“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ว่า การจะทำให้สัมมาชีพเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน ตามหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ ได้แก่  ความรู้ (เทคโนโลยี นวัตกรรม ความเป็นผู้ประกอบการ) , การเคลื่อนไหวทางสังคม และ การเชื่อมโยงฝ่ายนโยบาย ความหมาย คือ เมื่อเกิดความรู้แล้ว ต้องนำความรู้นั้นไปทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคม และเชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบาย เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อสัมมาชีพเกิดขึ้นในสังคมใดสังคมหนึ่งแล้ว ยังจำเป็นต้อง “ขยายผล” ให้เกิดในพื้นที่อื่น ๆ ให้มากที่สุด เพราะจะเป็น “คานงัด” สร้างแรงกระเพื่อมที่มากพอในการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่การสร้าง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่”

“ทุกอาชีพต้องมีสัมมาชีพ ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่ทำให้โลกเดือดร้อน ตอนนี้มีหลายอาชีพที่ร่ำรวยแล้วทำให้ดินเสีย น้ำเน่า อากาศเสีย แบบนี้ไม่เรียกว่าสัมมาชีพ สัมมาชีพยังต้องมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ มีเงินออม ไว้เป็นเกราะป้องกันเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็จะไม่ล้ม” เอ็นนู กล่าว

ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ด้วยวิถีสัมมาชีพ-BCG” โดยระบุว่า สถานการณ์โลกรวมถึงในไทยขณะนี้กำลังเผชิญ “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก อย่าง สหรัฐ และ จีน  วิกฤติโลกร้อน  อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

วิกฤติซ้อนวิกฤติเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อยอดขายของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นคนตัวเล็กในสังคม จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรัดเข็มขัดการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนการประกอบการปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ  ทำให้เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

แนวทางสัมมาชีพ และ โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นเทรนด์โลก และกติกาการค้าโลกที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค จากผลกระทบวิกฤติสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา บอกว่า ธุรกิจต่อจากนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็น “ทางรอด” ของเอสเอ็มอี ให้อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยาว ในสถานการณ์เช่นนี้ 

“กติกาการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานเก่งเอาแต่กำไรอย่างเดียวจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครคบค้า ต้องทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นด้วย ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีสัมมาชีพ ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แปลงไปสู่ความคิดในการทำธุรกิจที่ต้องทันโลก ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง มีนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ มีความยืดหยุ่น พลิกแพลง อาทิ การหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่ม-นวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การรับรองคุณภาพสินค้า และ รุกสู่การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งเป็นเทรนด์การค้าที่มาแรง ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย สร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจได้” 

ตัวอย่างเอสเอ็มอีที่รอดจากวิกฤติ ด้วยแนวทางสัมมาชีพ-BCG อาทิ ฮักตามองตา Hug Ta Mongk Ta ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ดัดแปลงสร้างสรรค์สินค้าที่เดิมผลิตหมอนขิดใบละ 50 บาท แปลงสู่การผลิตตุ๊กตาจากวัสดุที่ใช้ทำหมอนขิด ขนาดเท่าตุ๊กตาบาร์บี้ และ ทำกระเป๋าสาน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้สามารถขยับราคาขายได้สูงกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งยังกระจายการผลิตให้กับ 25 ชุมชน ใน 4 ภาค กว่า 90 ครัวเรือน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีรูปแบบการจำหน่ายแบบพรีออเดอร์ (สั่งก่อนค่อยผลิต) จึงไม่มีต้นทุนสต็อกสินค้า ปัจจุบันเอสเอ็มอีรรายนี้ มีรายได้ปีละ 4-5 แสนบาท และธุรกิจกำลังเติบโตต่อเนื่อง 

ธุรกิจที่สอง คือ บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล (TPR) นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลขวดพลาสติก (PET) กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้รายได้โตขึ้น 3 เท่า ในรอบ 3 ปี กำไรโตขึ้น 4.5 เท่า นับเป็นธุรกิจที่มีกระแสตอบรับที่ดี สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG  ธุรกิจเติบโตดีแล้ว ต้องทำให้โลกดีด้วย 

ตัวอย่างที่สาม คือ บริษัท PAPA PAPER CRAFT ผู้ผลิตและส่งออกกระดาษสา ที่สร้างมูลค่าเพิ่มกระดาษสาในรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้า จากสินค้าท้องถิ่นสุดขั้ว มาใส่งานดีไซน์ ใช้ตกแต่งภายใน มีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเป็นกระดาษสากันน้ำ และป้องกันไฟไหม้ลุกลาม นำไปใช้ในงานโครงสร้าง และ ยังนำวัสดุทางการเกษตร (ฟางข้าว ใยกล้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) มาใช้ทดแทน ‘ปอสา’ ที่มีราคาค่อนข้างสูง ในการผลิตสินค้า แทนการเผาทิ้งวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ให้เป็นมลพิษทางอากาศ 

อีกหนึ่งธุรกิจ คือ บริษัท Deeco ดีต่อโค ดีต่อใจ ที่นำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพารา ต่อยอดเป็นการผลิต “รองเท้าวัวเพื่อสุขภาพ” เพื่อป้องกันวัวซึ่งมีน้ำหนักมาก กีบเท้าแตกจากการเลี้ยงบนพื้นซีเมนต์ ลดการนำเข้ารองเท้าวัวเพื่อสุขภาพ จากคู่ละ 2,000 บาท เหลือเพียงคู่ละ 600 บาท ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพารา ได้ถึง 2,000 เท่า   

 “จากตัวอย่างธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจต้องนำเรื่องราวหรือปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงพัฒนาธุรกิจเพื่อแก้ปัญหา มีความขยัน ใช้ปัญญา และลองผิดลองถูกจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ มีงานวิจัยจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๋งภากรณ์ ระบุว่า คนตัวเล็กจะประสบความสำเร็จได้นั้น ระบบการศึกษาไม่ได้ช่วยรับประกันความสำเร็จได้ดีเท่ากับการลองผิดลองถูก และต้องทำธุรกิจอย่างมีสัมมาชีพ ไม่ใช่ทำธุรกิจไม่มีกำไร แต่เป็นการทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม เหล่านี้จึงจะนำไปสู่การเป็นผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงเขยื้อนภูเขาได้” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ให้ทัศนะ 

ด้าน นายผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บรรยายหัวข้อ “ธ.ก.ส. กับการดำเนินงานสำคัญที่สนับสนุน BCG Model ปี 2566” ว่า โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของ ธ.ก.ส. จึงมีแผนงาน/โครงการที่เป็นรูปธรรม โดยบูรณาการใน 3 มิติ การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ “ชุมชนเป็นศูนย์กลาง”

อาทิ โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นการให้สินเชื่อผ่อนปรนเกณฑ์พิเศษ ให้สินเชื่อ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาทต่อปี หรือ อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อนำเงินไปต่อยอดธุรกิจ BCG โดยใช้หลัก Care Share Fair (เกื้อกูล แบ่งปัน เป็นธรรม) เช่น นำเงินไปประกอบธุรกิจรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในชุมชนในราคาประกัน หรือ มีส่วนเพิ่มให้กับชุมชน หรือ ใช้หลักปันส่วนคืนชุมชน ในรูปของเงิน หรือ สวัสดิการชุมชน หรือ ให้งบสำหรับการพัฒนาคืนกลับชุมชน เพื่อสร้างธุรกิจที่สร้างความเป็นธรรมกับชุมชน เป็นต้น  โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อให้กับชุมชนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ใน 1,000 กว่าชุมชน 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการท่องเที่ยวชุมชน ในชื่อโครงการ “ชุมชนต้องเที่ยว ธ.ก.ส.” ทำไปแล้ว 80 กว่าชุมชน  อาทิ ที่เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ถ้ำเสือ ชุมชนช้างที่สุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นชุมชนที่ ธ.ก.ส. ได้ไปพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์และวิถีของชุมชน จึงดึงดูดนักท่องเที่ยว โครงการนี้ ธ.ก.ส. เข้าไปพัฒนาด้านมาตรฐานท่องเที่ยว พัฒนาโฮมสเตย์ และสร้างกิจกรรมชุมชนกับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้กว่า 200 แห่ง เพื่อเชื่อมกับชุมชนท่องเที่ยวดังกล่าว

อีกทั้งมีโครงการชุมชนอุดมสุข ที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ โดยหลักคิดจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ดำเนินการไปแล้ว ภายใต้ 4 มิติการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรมประเพณี โดยได้นำหลัก BCG ไป “ยกระดับ” ชุมชนอุดมสุข โดยยกระดับไปแล้ว 104 ชุมชน

ส่วนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการเด่นของ ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทำเรื่อง “ปลอดการเผา” กับพืชทุกชนิด แบ่งเป็น 2 พืช ที่มีผู้เข้าร่วมสูง คือ ข้าว และ อ้อย โดยสามารถลดพื้นที่การเผาในปีที่ผ่านมากว่า 4 แสนไร่ โดยนำหลักในการมีส่วนร่วมของชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ไปใช้ในการขับเคลื่อนและเติมองค์ความรู้ด้านการพัฒนา เช่น ถ้าไม่เผาจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง 

ในโครงการนี้เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการไม่เผา เพราะโรงงานน้ำตาลจะให้ราคารับซื้อสูงขึ้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้ส่วนต่าง 120 บาทต่อตัน  และยังสามารถนำใบอ้อยไปจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยแทนการเผาทิ้ง 

ด้าน เศรษฐกิจสีเขียว “ผลึก” กล่าวว่า ธ.ก.ส. ดำเนินการในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “พลังงานสะอาด” โดย ธ.ก.ส. นำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดไปลงที่ชุมชน เช่น ชุมชนที่สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงาน , การทำโครงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 76 ชุมชน  เป็นต้น 

ขณะที่ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บรรยายในหัวข้อ “สรรค์คุณค่าสู่มูลค่า” ว่า แนวทางดำเนินการของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณค่า การแบ่งปัน การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการท่องเที่ยว เพื่อสร้าง “มูลค่า” คืนกลับมาเป็นความอยู่รอดยั่งยืนต่อองค์กร และชุมชนแวดล้อม

“สังคมเก่าเป็น Sharing Economy  แต่สังคมปัจจุบัน คือ เรามี Wealth มีความมั่งคั่ง อยากได้อะไรก็ไปซื้อหา ทำให้การช่วยเหลือแบ่งปันไม่มี  ซึ่งเห็นว่า องค์กรที่ดีต้องทำให้โลกนี้ดีขึ้น กลับไปสู่โลกแห่งการแบ่งปัน ไม่ใช่มุ่งสร้างความมั่งคั่ง มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง”  

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวต่อว่า ในการทำงาน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องก่อน ทำให้คนท้องอิ่มก่อน จึงจะไปพัฒนาในเรื่องอื่น โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG  ซึ่งเป็นเทรนด์โลก เช่น แก้ปัญหาเรื่องการเผา เพื่อเตรียมดินปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชเศรษฐกิจ ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ , การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ให้ชุมชน , การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักษาป่าไม้ ทำให้เกิดป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญมาก ที่ชุมชน เอกชน ต้องช่วยกันดูแลป่า 

“เราต้องทำชุมชนให้พร้อมก่อน ความเสี่ยงของประเทศไทย คือ ไฟ และ ไฟที่เสี่ยงที่สุด คือ ไฟแช็ค โจทย์ คือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมาดูแลป่า ร่วมกันทำแนวกันไฟ เติมความสมบูรณ์ให้กับป่า เพื่อทำให้ไฟป่าลดลง ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าสู่มูลค่าให้กับชุมชน โดยเห็นว่า ความรับผิดชอบของมนุษย์ต้องมีให้กับส่วนรวมก่อน ค่อยมีให้กับตัวเอง” มล.ดิศปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย 

RANDOM

error: Content is protected !!