นักวิจัย ม.อ. ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย ค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ของป่าฮาลา-บาลา เตรียมต่อยอดท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย คณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ “บุหงาเซิงเบตง” มีลักษณะเด่นดอกสีเหลือง มีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กับ “บุหงาเซิงฮาลา” มีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง ที่ ป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา โชว์ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa ระดับนานาชาติฐาน WOS ระดับ Quartile 3 ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ที่มีผลจากการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้ร่วมกับ Prof. Dr. David M. Johnson : Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A ดร.จิรัฐิ สัตถาพร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายสุเนตร การพันธ์ สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ร่วมค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลบุหงาเซิง (Friesodielsia Steenis) ของพืชวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ บุหงาเซิงเบตง : Friesodielsia betongensis Leerat และ บุหงาเซิงฮาลา : Friesodielsia chalermgliniana Leerat ที่ป่าฮาลา-บาลา ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา

บุหงาเซิงเบตง

การค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก (New species) ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติฐาน WOS ระดับ Quartile 3 ชื่อวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 589 (1) ปี ค.ศ. 2023 โดยพืชสกุลบุหงาเซิง จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ บุหงาเซิงเบตง : Friesodielsia betongensis Leerat เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่น คือ มีดอกสีเหลือง โดยมีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบเขา อยู่ระดับความสูงเหนือระดับทะเล 1,000-1,200 เมตร โดยจะออกดอกและผลช่วงเดือนพฤษภาคม สำหรับที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์เป็นการตั้งชื่อให้กับสถานที่ที่มีการค้นพบพืชชนิดนี้ ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

บุหงาเซิงฮาลา

สำหรับพืชบุหงาเซิงฮาลา : Friesodielsia chalermgliniana Leerat เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะเด่น มีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบชื้น อยู่เหนือความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 500 เมตร ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม โดยที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย และเป็นผู้ให้ความรู้นำทีมทำการสำรวจภาคสนาม

รศ. ดร.จรัล กล่าวว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่ทั้ง 2 ชนิดของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ของป่าฮาลา-บาลา จากผลของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และการค้นพบครั้งนี้ยังสามารถต่อยอดในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยปัจจุบันเขตฮาลา-บาลาเป็นหนึ่งในป่าดิบชื้น (Rain Forest) ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งที่อาศัยของพืชพรรณและมีความมหัศจรรย์จากธรรมชาติมากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา โดย ม.อ.ยังคงมุ่งมั่นศึกษาและสำรวจพืชใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

RANDOM

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัย ประจำปี 2566 เปิดรับสมัครแล้ว ถึง วันที่ 12 ม.ค. 67

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จับมือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ชวนคนรุ่นใหม่โชว์พลังสร้างสรรค์ ร่วมประกวดโฆษณาหนังสั้น “GLO Innovation Short Film Contest 2024” ชิงทุนการศึกษารวม 800,000 บาท สมัครเข้าร่วมโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 12 มี.ค. 67

error: Content is protected !!