เครือข่าย 33 มหาวิทยาลัย เตรียมเสนอ “ข้อเสนอแนะแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศ” แก่รัฐบาลชุดใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ประชาชนคนไทยได้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ค. อย่างล้นหลามกว่า 75 % นับเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งจะตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เพื่อมาพัฒนาประเทศ ก่อนวันเลือกตั้งทาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้มีการจัดประชุมระดมสมองกลุ่มเครือข่ายผู้บริหารจากสถาบันอุดมศึกษา 33 แห่งในประเทศไทย รวมกว่า 179 คน เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอแนะแผนยุทธศาสตร์ต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษาตอบรับโลกยุคใหม่ และจะยื่นเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า โลกปัจจุบันและอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย พร้อมสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรที่มีจำกัด ไม่ว่าพรรคใดจะได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ ต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และมุ่งการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน พรรคการเมืองและนักการเมืองควรใช้โอกาสในการเข้ามาทำงานบริหารประเทศในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติและทุกระดับ ก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความร่วมมือ สนับสนุนพัฒนาการศึกษา ทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี ทรัพยากร งบประมาณ และการนำงานวิจัยนวัตกรรมมาสู่การพัฒนาประเทศ อย่างเช่น การเป็นฮับเกษตรอินทรีย์ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อาหารมีคุณภาพและปลอดภัยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศ การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาผสมผสาน และพัฒนา Soft Power ต่าง ๆ ของไทย สู่ตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมดนตรี กีฬา ภาพยนตร์ เป็นต้น

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.นพ. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการมุ่งพัฒนาที่ต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วย 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งครบครันทุกมิติและตอบรับอนาคตประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน โดยสถาบันการศึกษาควรมุ่งเน้นหมุดหมายที่ 12 สร้างบุคลากรที่สมรรถนะสูง จัดทำแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนหมุดหมายด้านอื่น ๆ ให้สำเร็จ

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอในช่วงหาเสียงแทบทุกพรรค จะเน้นไปที่การเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี เป็นสิ่งที่ยังมีรายละเอียดในการบริหารจัดการงบประมาณและประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นจริง แต่ยังมีมิติอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศของการขับเคลื่อนสร้างสรรค์งานวิจัย และต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับ การส่งเสริมหลักสูตรและแพลตฟอร์ม “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” สำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย ให้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา

ทางด้าน ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร. ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า การจัดทำข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษาครั้งนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย และภูมิทัศน์ของทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะประเด็นของผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย ยูเครน และความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและแรงงานทักษะชั้นสูงสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกัน จึงไม่ใช่เป้าหมายแค่เพียงประชากรไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประชากรโลกด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษา สามารถนำไปใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทุกภาคส่วน สนับสนุนส่งเสริมงานด้านอุดมศึกษาสู่การพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของประชากรไทยอย่างทั่วถึงทุกคนต่อไปในอนาคต

RANDOM

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!