กรมสุขภาพจิต ชี้ เสนอข่าวกราดยิงเน้นดราม่า ห่วงสังคมชินชาต่อความรุนแรง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุกราดยิงที่จังหวัดเพชรบุรี ว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสารวัตรคลั่งจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด จะพบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชนและองค์กร เพราะผู้ที่มีอาวุธปืนส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ องค์กรต้องทำหน้าที่ดูแลบุคลากรของตนให้ดี ไม่ใช่เกิดปัญหาก็ส่งต่อให้ระบบสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นระบบปลายทาง แต่ควรคำนึงว่าก่อนที่คนเหล่านี้จะมีปัญหา เคยเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้กับหน่วยงานได้อย่างดีเยี่ยม การครอบครองอาวุธปืนของคนในองค์กรต้องมีการติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ

เพราะการครอบครองอาวุธปืน มีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศ การครอบครองอาวุธอาจก่อเหตุได้ ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนในครอบครัว คนในชุมชน หรือ แม้แต่คนไม่รู้จัก ฉะนั้นอย่าใช้อำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัดการดูแลครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ พร้อมเรียกร้องยกเลิกซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน

นอกจากนี้ การเสนอข่าวเหตุการณ์เช่นนี้ กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่ามากจนเกินไป เพราะห่วงอนาคตสังคมจะชินชาต่อความรุนแรง เกิดการเลียนแบบ หรือ ลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่ง กสทช.สามารถเข้าไปดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก สื่อออนไลน์ที่มีการลงทะเบียน เพราะบทเรียนจากการนำเสนอข่าวจะเห็นว่าทุกครั้งมีบทเรียนไม่ซ้ำกันและดราม่าความรุนแรงแตกต่างกัน ทั้งนี้ การติดตามข่าวแบบทุกนาที หรือ ทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียด และท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา

RANDOM

error: Content is protected !!