วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดหลักสูตรใหม่ AI ผนวก 4 สหสาขาวิชา แพทยศาสตร์, บริหารและการบัญชี, เกษตรศาสตร์ และ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปัจจุบัน ศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ( AI ) ถือเป็นเทคโนโลยีแขนงหนึ่งในวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือ computer science ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก มีการบูรณาการเทคโนโลยี AI ไปสู่ทุกศาสตร์ ทั้งในเรื่องระบบการตรวจสอบอัตโนมัติ การประมวลผลข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาล ดังนั้น AI จึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตของคนยุคใหม่สะดวกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (College of Computing: CP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ศาสตร์ AI ไม่เพียงประมวลผลแต่ในคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ต่อไปเราจะสร้างอุปกรณ์ประมวลผล และใส่อัลกอริทึม หรือ คำสั่ง หรือเงื่อนไขแบบทีละขั้นตอนที่จะทำให้หุ่นยนต์นั้นทำสิ่งที่เรากำหนดให้สมบูรณ์ ในอนาคตเราอาจจะเห็น Digital Human ( คนเทียม ) ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์หรือสิ่งรอบตัวเหมือนกับคน เช่น ในวงการประชาสัมพันธ์มีนักข่าวที่เป็น Digital Human ซึ่งจะมีการอ่านข่าว และการสื่อสารทางด้านร่างกาย ผ่านการแสดงสีหน้า แววตา ได้เหมือนกับมนุษย์ เพราะเรามีอัลกอริทึมในการที่จะรู้จักและรู้จำภาษากายของมนุษย์ ในส่วนของโครงสร้างของคนเทียมประกอบไปด้วย กล้องเปรียบเสมือนดวงตา ทำหน้าที่แปลงภาพที่ได้รับเข้ามาเป็นข้อมูล และซอฟต์แวร์ AI ที่เปรียบเสมือนสมองกลทำหน้าที่ประมวลผลว่า หน้าตาแบบนี้แสดงอารมณ์แบบใด ในส่วนนี้เราเรียกว่า Pattern recognition คือ การใช้เทคโนโลยี AI เข้าไปจัดการเลียนแบบอารมณ์มนุษย์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายจัดตั้งหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ สังกัดวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ขึ้น เพื่อให้ความรู้ด้านทฤษฎีอย่างเข้มข้น การเรียนการสอนยังเป็นเชิงบูรณาการเชื่อมโยงไปยังศาสตร์อื่น ๆ โดยมีความร่วมมือกับหลากหลายคณะ ประกอบด้วย AI ด้านการแพทย์ บูรณาการ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์, AI ด้านธุรกิจ ร่วมกับ คณะบริหารและการบัญชี, AI ด้านการเกษตร บูรณาการ ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์, และ AI ด้านกิจการสาธารณะ บูรณาการ ร่วมกับ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น

หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหลักสูตรที่ให้ความเข้มข้นกับศาสตร์ AI โดยใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปี ประกอบด้วย เนื้อหาการเรียน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

ส่วนแรก AI Techniques เป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางด้าน AI ซึ่งจะมีพื้นฐานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาเชิงคำนวณ ทฤษฎีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และแนวคิดในการประยุกต์ใช้ AI ที่ชัดเจนและเข้มข้น

ส่วนที่สอง AI Functional Applications เป็นการนำเอาขั้นตอนวิธีพื้นฐานของ AI ไปสร้างส่วนของ AI ประยุกต์ ในระดับของฟังก์ชันงาน เช่น การรู้จำ Recognition การจำแนกแบบ การจัดกลุ่ม การทำนาย เพื่อที่จะสามารถนำไปประมวลและวิเคราะห์ผลกับข้อมูลประเภทต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ผู้เรียนเข้าใจความเหมาะสมของการเลือกใช้ AI แต่ละประเภทอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเนื้อหาในระดับชั้นปีที่ 3

ส่วนสุดท้าย AI Application Fields คือ การนำองค์ความรู้ AI ไปประยุกต์ใช้ในสายงานต่าง ๆ เช่น ทางด้านการแพทย์ ทางด้านการเกษตร ทางด้านบริหารธุรกิจ ทางด้านการส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ และด้านอื่น ๆ ซึ่งในส่วนสุดท้ายจะเป็นเนื้อหาในระดับชั้นปีที่ 3-4 นอกจากนั้น ยังมีส่วนของภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมมาร่วมมือด้วย ทำให้นักศึกษาจากหลักสูตรนี้พร้อมที่จะออกไปทำงานจริง และเป็นบัณฑิตที่พร้อมใช้งานตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีการจับคู่ระหว่างหลักสูตร AI กับ คณะสาขาวิชาต่าง ๆ ในการบูรณาการหลักสูตรเฉพาะด้าน เมื่อเรียนถึงชั้นปีที่ 4 นักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดในด้านต่าง ๆ ที่ตนสนใจหรือถนัด ถือเป็นจุดเด่นของหลักสูตร AI ของ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ด้านการแพทย์ ด้านธุรกิจ ด้านการเกษตร และด้านการปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังผนวกเข้ากับสถานประกอบการต่าง ๆ ทั้ง บริษัท หน่วยงาน และองค์กร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความถนัด ความสามารถในการประยุกต์ใช้ AI กับศาสตร์ทุกแขนงได้

“เรามั่นใจว่า นักศึกษา และบัณฑิต หลักสูตร AI วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะช่วยขับเคลื่อน AI ของโลก ภายใต้หลักสูตรมาตรฐานสากล การันตีโดยคณาจารย์ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการทำวิจัยค่อนข้างสูง แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ตาม เราสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถก้าวเข้าไปอยู่ใน Top rank 600-800 ของโลก ซึ่งเป็นปีแรกที่ส่งเข้าร่วมจัดอันดับ Computer Science by Subject ซึ่งศาสตร์ด้านนี้จะสามารถขยายไปได้อีกไกลมาก” คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นักศึกษาโครงงานปัญญาประดิษฐ์ นายชนม์สวัสดิ์ นาคนาม กล่าวว่า AI สามารถวิเคราะห์ได้ซับซ้อนมากกว่าสมอง หรือดวงตาของมนุษย์ที่จะมองเห็น และมีความแม่นยำ เพิ่มความสะดวกสบาย ประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ เหตุการณ์ สถานที่ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่าง โครงการของตน คือ การใช้ AI นับจำนวนคนเข้างานนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีคนหนาแน่น โดยโครงงานดังกล่าว สามารถระบุได้ว่าตรงไหนมีจำนวนคนหนาแน่น โดยปกติสายตามนุษย์จะสามารถประเมินจำนวนคนในบริเวณนั้นได้คร่าว ๆ แต่อาจเกิดความล่าช้า และอาจเกิดความผิดพลาดสูง

ด้าน นายพริษฐ์ จงหาญ นักศึกษาเจ้าของโครงการ Face detection and identification System หรือ การตรวจจับคนร้ายด้วยใบหน้า เจ้าของรางวัล Tech4Good gold award (turning green project) ตัวแทนโครงการระดับเอเชียแข่งขัน AI ระดับโลก เปิดเผยว่า การตรวจจับคนร้ายด้วยใบหน้า มีแรงบันดาลใจจากการตรวจจับใบหน้าคนร้ายอย่างยากลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะคนร้ายส่วนใหญ่แฝงตัวใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า ทำให้ AI ที่ใช้จับภาพคนร้ายชนิดเต็มใบหน้า เริ่มใช้ไม่ได้ผล ตนและเพื่อนอีก 2 คน ประกอบด้วย ภูมิภัทร จันทร์ใบ และ ปัณณธร ผาใต้ จึงจัดทำโครงงานการตรวจจับคนร้ายด้วยใบหน้า แม้จะเห็นใบหน้าแค่บางส่วนก็ตาม

หลักสูตร AI ของ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการสร้างและผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นหลักสูตรที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้าน AI โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการด้านเทคโนโลยีของทั่วโลก และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลักดันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ (First S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี อันเป็นหัวใจหลักของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

RANDOM

NEWS

อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

error: Content is protected !!