8 นักวิจัย มจธ. สุดเก่ง คว้าทุนมูลนิธิอาซาฮี ประจำปี 2565

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มร.ทาคุยะ ชิมามุระ ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ มีความร่วมมือกับประเทศไทย และ มจธ. มาอย่างยาวนาน โดยปี พ.ศ. 2555 เป็นปีแรก ที่มูลนิธิได้เข้ามาสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทาง มจธ. ต่อเนื่องมาในปีนี้นับเป็นปีที่ 11 แล้ว และได้ให้การสนับสนุนวิจัยไปแล้วกว่า 68 โครงการ เป็นเงินกว่า 41,000,000 เยน

“ผมเชื่อว่า นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยนี้จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ และหวังว่าการให้การสนับสนุนของเราจะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยทุกคนที่ได้รับทุนนี้ และมีความภาคภูมิใจเพราะงานวิจัยเหล่านี้ คือ ดอกผลที่มีศักยภาพ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างไม่มีขีดจำกัด”

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.

ด้าน รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ทุนอาซาฮี เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม โดยในปีนี้ มจธ.ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 5 ล้านเยน และมหาวิทยาลัยสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 5 ล้านเยน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3,000,000 บาท ให้กับ 8 โครงการ ใน 6 สาขา ซึ่งจากเดิม 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) สาขาวิทยาการสารสนเทศ (Information Sciences) สาขาพลังงาน (Energy) ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีการให้การสนุบสนุนทุนในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) เพื่อจัดการกับปัญหาซับซ้อนที่เราทุกคนกำลังเผชิญ อาทิ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สังคมผู้สูงอายุ ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยวิทยาศาสตร์ (Science) สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Social Science) ต้องจับมือทำงานร่วมกันในอนาคต

สำหรับนักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮี ประจำปี 2565 ทั้ง 8 โครงการ ใน 4 สาขาการวิจัย ประกอบด้วย 1. สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในผลงานการออกแบบ “โครงสร้างวัสดุพรุนจากกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลและเชิงชีวภาพสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดูก” เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวัสดุที่มีรูปทรงที่เหมาะสมนำมาทดแทนกระดูก โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติของโลหะ เพื่อออกแบบและผลิตโครงสร้างวัสดุพรุนที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อกระดูก โดยมุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างวัสดุพรุนที่เรียกว่า Triply Periodic Minimal (TPMS) ซึ่งเป็นโครงสร้างพรุนที่มีลักษณะแบบพื้นผิวโค้ง ส่งผลให้มีลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวที่ใกล้เคียงกับกระดูกจริง และทำการทดลองเพื่อทดสอบคุณสมบัติทางกลประเมินความสามารถในการไหลผ่านของเหลว รวมถึงการพัฒนาแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ คาดหวังว่า องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อออกแบบวัสดุทดแทนกระดูกที่ผลิตจากกระบวนการพิมพ์สามมิติต่อไป และ ดร.นนท์ ทองโปร่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์นาโนและนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ ในผลงาน “การพัฒนาคำอธิบายที่ถูกต้องของการวัดกระแสไฟฟ้าที่ถูกจำกัดด้วยประจุอิสระหลังถูกป้อนด้วยศักย์ไฟฟ้าในชั้นฟิล์มบางวัสดุเพอรอฟสไกต์ สำหรับการวัดคุณสมบัติการนำพาประจุที่แม่นยำ ด้วยการศึกษาเชิงการคำนวณด้วยการเรียนรู้ของเครื่องและการทดลอง” เป็นการศึกษาวิจัยที่มุ่งสร้างความเข้าใจและพัฒนาคำอธิบายเพื่อวิเคราะห์ผลการวัด SCLC หลังถูกป้อนด้วยความต่างศักย์อย่างแม่นยำ

2. สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.ภัทรา ผาสอน สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “การพัฒนาเซลลูโลสแม่เหล็กคอมโพสิตชีวภาพจากเปลือกสับปะรดเพื่อตรึงเอนไซม์ : ความยั่งยืนในการเพิ่มเสถียรภาพและการนำเอนไซม์กลับมาใช้” เป็นการพัฒนาเทคนิคการตรึงเอนไซม์บนพื้นผิววัสดุด้วยอนุภาคนาโนเซลลูโลส-แม่เหล็ก ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ และ ดร.ดาภะวัลย์ คำชา สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “นิเวศวิทยาการผสมพันธุ์ ลักษณะพื้นที่ทำรังและบทบาทของป่าสนปลูกปัจจัยสำคัญต่อการอนุรักษ์นกไต่ไม้ใหญ่ (Sitta magna) ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก” ซึ่งผลจากการศึกษาจะนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์ที่เหมาะสมและลดโอกาสการสูญพันธุ์ลง

3. สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Dr.Nasrul Hudayah สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “ความสัมพันธ์ระหว่าง Quorum sensing และการถ่ายโอนอิเลคตรอนระหว่างสายพันธุ์ของจุลินทรีย์บนวัสดุตัวกลางชีวภาพแบบเหนี่ยวนำที่ส่งเสริมการผลิตมีเทน” และ ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “การประเมินพลวัตประชากรและอัตราการรอดตายของเสือปลาในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์” เป็นการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร และการประเมินอัตราการรอดตายของเสือปลาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าต่อไป และ

4. สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม ในโครงการ “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอุตสาหกรรมไทย” เป็นการศึกษาระดับความพร้อมในการบริหารจัดการด้าน Climate change ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในประเด็นทางสังคมในเรื่องของแนวความคิด แรงจูงใจ มุมมอง และทัศนคติของผู้ประกอบการ เพื่อการวิเคราะห์ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาตัวแบบมาตรวัดทางสถิติที่ใช้วัดระดับความพร้อมของการปรับตัว และนำเสนอนโยบายเชิงวิชาการต่อไป และ  รศ.ดร.อธิปัตย์ บุญเหมาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ในโครงการ “อบรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะการสื่อสารแบบออนไลน์ และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย หลังจากช่วงฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)”

ทุนวิจัยอาซาฮี ถือเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ และยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ.ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และเกิดผลงานเชิงประจักษ์ ที่สำคัญยังช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

RANDOM

error: Content is protected !!