บทบันทึกนี้เป็นการรวมจากเอกสารหลายๆ แหล่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และการกีฬาของไทย กับประเทศจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่น่าจดจำ โดยจะขอเอ่ยถึงเรื่องการเมืองประกอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อโยงถึงเรื่องของกีฬาที่เป็นทางการ ในนามทีมชาติไทยชนิดแรกที่ได้เดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ไมตรี กับจีน คือ “ปิงปอง”
โดยกีฬาปิงปองนี้ ที่จีนถือว่าเป็น “กีฬาการทูต” หรือ ปิงปองการทูต …เพื่อใช้เชื่อมสัมพันธ์กับชาติต่างๆ หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศจีนได้สงบลงแล้ว
ด้วยคำกล่าวของประธานเหมาเจ๋อตุง ที่ระบุตอนนั้นว่า “ปิงปองลูกน้อยๆ นี่แหละจะเปลี่ยนโลก” และจากนั้นปิงปองหรือเทเบิลเทนนิส ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติของจีน ทั้งการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ การส่งทีมไปเยือนแข่งแบบมิตรภาพกับชาติต่างๆ และการเชิญทีมปิงปองจากชาติต่างๆ ไปเยือนจีนเพื่อแข่งขันกัน

ในส่วนของการเชิญชาติต่างๆ ไปเยือนจีนนั้น หลังจากจีนเปิดประเทศ และมุ่งมั่นใช้กีฬา เป็นเครื่องมือเชื่อมไมตรีแล้ว จึงมีนักกีฬาจากชาติต่างๆ แห่เข้าไปมากมาย และจากกีฬาก็กลายเป็นจุดเชื่อมสัมพันธ์ทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จตามมาอย่างดี เพราะแต่ละชาติในทุกมุมโลกที่กังขากับบทบาทของจีนยุคนั้นก็ค่อยๆ ทะยอยรับรองไมตรีกับจีน แม้แต่สหรัฐอเมริกา!!!…ซึ่งนับเป็นความสำเร็จดั่งที่ประธานเหมาเล็งและว่าไว้ “ปิงปองลูกน้อยๆนี่แหละจะเปลี่ยนโลก”

ขณะที่ประเทศไทย ก่อนปี 2501 มีการส่งบุคลากรจากหลายสาขาอาชีพไปจีน เพื่อเยือน เยี่ยม พร้อมผูกสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพ่อค้า ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนจากกองทัพ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน กลุ่มดารา นักการเมือง หรือ นักกีฬาอย่างทีมบาสเกตบอล ที่ใช้ชื่อว่าทีม เหลืองแดง จากไทยก็ถูกเชิญไปแข่งอย่างไม่เป็นทางการ
แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย จากปี 2501 นั้นภาครัฐบาลไทยชุดใหม่ก็ “ถอย” จากจีนด้วยนโยบายหรือแนวทางการบริหารในห้วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีการส่งผู้แทนจากภาคส่วนใดๆ ไปจีน เป็นเวลา 14 ปี จนกระทั่งปี 2515 นโยบายผู้นำเริ่มคลาย ทีมปิงปองทีมชาติไทย จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางไปจีนครั้งแรก เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน กีฬาปิงปองชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 1 ที่จีนจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง และแน่นอน อีกมิติหนึ่งนอกจากการไปงานเพื่อแข่งขันกีฬา คือเพื่อพูดคุยเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตของทั้ง 2 ชาติ ครั้งแรกที่ได้มีการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรม
จึงถือเป็นประวัติศาสตร์อีก 1 หน้าของ วงการกีฬาไทย โดยเฉพาะกีฬาปิงปองไทย ที่ควรถูกบันทึกในงานที่มีส่วนร่วมสำคัญครั้งนี้

โดยผู้ที่ร่วมเดินทางในคณะนั้นจากไทยประกอบด้วย พลตำรวจโท (ยศขณะนั้น) ชุมพล โลหะชาละ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นหัวหน้าคณะ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจการคลังของคณะปฏิวัติ เป็นที่ปรึกษาคณะ พันตำรวจโท โกวิท ภู่พานิช เป็นเลขานุการคณะ นายสันติภาพ เตชะวณิช เป็นผู้จัดการทีม นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตร เป็นแพทย์ประจำทีม นายพิชัย วาสนาส่ง เป็นประชาสัมพันธ์คณะ นายอารักษ์ อุยะนันท์ เป็นล่ามประจำทีม

โดยมีนักกีฬาชาย ประกอบด้วยนายประชัน คุณาชีวะ นายชูชัย เพลินพฤกษา นายศิริชัย วัฒนเมตตา นายกุมุท เลี้ยงหิรสิทธิ์ นายศุภชัย พัฒนาวีระนันท์ และ นักกีฬาเยาวชนชาย 2 คนคือ นายสมเดช สายจิตบริสุทธิ์ กับ นาย อภิชาต ทวีพาณิชย์พันธุ์
ส่วนนักกีฬาหญิง ประกอบด้วย นางสาวสุมาลี ชูสัตยานนท์ นางสาวลาวัลย์ วงษ์พันสวัสดิ์ นางสาวมัลลิกา เมธาชัยกิจ นางสาวผกาทิพย์ สีมาตรัง และ นักกีฬาเยาวชนหญิง 2 คนคือ นางสาวกุลธิดา ผลาดิกานนท์ กับ นางสาวเรวดี จันทร์โรจน์วงศ์
วันที่ 24 ส.ค.2515 คณะทีมปิงปองไทย เดินทางออกจากประเทศไทย และแวะพักที่ฮ่องกง ก่อนที่จะเดินทางต่อถึงกรุงปักกิ่ง วันที่ 27 ส.ค.2515 มีพิธีการต้อนรับที่สนามบินอย่างมโหฬาร (ผู้เขียนระบุเช่นนั้น) โดยมีการจัดริ้วขบวนชูช่อดอกไม้ และร้องรำทำเพลงต้อนรับ และจากนั้นคณะนักกีฬาก็ได้เข้าพักที่โรงแรมเทียนเหมิน เพื่อรอการแข่งขันที่กำหนดไว้คือ 2-13 ก.ย.2515
โดยระหว่างทีมรอแข่งขันนั้น นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ คนสำคัญซึ่งรู้กันว่าเป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยได้พบปะผู้นำชั้นสูงของประเทศจีนหลายคณะที่ให้เกียรติต้อนรับและพูดคุยในประเด็นต่างๆ ในฐานะตัวแทนของภาครัฐทั้ง 2 ชาติ
ทางด้านผลการแข่งขัน สำหรับทีมเทเบิลเทนนิสไทย ในการแข่งขันรายการชิงแชมป์เอเชีย ครั้งแรก นั้น ผลงานของทีมชาย และ ทีมหญิง ได้อันดับที่ 9 เช่นเดียวกัน แต่ที่น่ายินดี คือการแข่งขันประเภทเยาวชนชายเดี่ยว นักกีฬาของไทยคือ สมเดช สายจิตบริสุทธิ์ สามารถครองอันดับ 3 ร่วมกับนักกีฬาจีน จากนักกีฬาที่เข้าแข่งมากถึง 31 ชาติด้วยกัน

นี่เป็นบันทึกถึงทีมนักกีฬาปิงปองไทย ชุดประวัติศาสตร์หนนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ทั้งเรื่องกีฬาที่ต่อๆ มามีกีฬาชนิดอื่นๆ ของไทยก็ได้เดินทางไปแข่งขันที่จีนทั้งในการแข่งขันที่จีนจัด และไปแข่งแบบมิตรภาพที่ทางจีนเชิญอีกหลายกีฬา และหลายหน พร้อมๆ กับภาครัฐบาลไทย ก็ได้เดินทางไปสานต่อไมตรีกับจีน ในด้านต่างๆ และแน่นแฟ้นมาจนปัจจุบัน
#อ้างอิงจากหนังสือ โจวเอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน บันทึกโดยวรรณไว พัธโนทัย
#และบันทึกจากหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลานั้น