สถานีความคิด : เทคนิคทางด้านจิตวิทยาช่วยท่านได้ นักวิชาการไทย รศ.ดร.ธิรตา ภาสะวณิช มีข้อแน่นำดี ๆ ที่นี่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ใช้เทคนิคจิตวิทยาผลิตสารเคมีให้ตนเอง

กว่าร้อยปีที่นักจิตวิทยาได้คิดค้นเทคนิคและวิธีการที่หลากหลายที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถรักษาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เทคนิคทางจิตวิทยาเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การฝึกผลิตสารเคมีในร่างกายด้วยตนเอง (Autogenic Training: AT) ที่ให้ผลในด้านการรักษาและการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเทคนิค AT ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1932 โดย Dr. Johannes Heinrich Schultz นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน และได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1992 Dr. Kai Kermani นักจิตบำบัดชาวอังกฤษได้นำ AT มาประยุกต์เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งเน้นเพื่อการรักษาและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาของสุขบัญญัติ (Health Recommendation) ข้อ 9 การดูแลสุขภาพจิต ที่มีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในขณะที่การรับยาอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำงานหนักของไตและผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา

การฝึก AT ที่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิและการผ่อนคลายมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท อีกทั้งยังมีการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาการทำงานและโครงสร้างของสมองตามหลักประสาทสรีรวิทยา (Neurobiology) พบว่า การฝึก AT ทำให้เกิดการลดลงของระดับคอร์ติซอล (Cortisol-ฮอร์โมนกระตุ้นร่างกาย มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมันและโปรตีน จะผลิตออกมากเมื่ออยู่ในภาวะเครียด) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine-สารเคมีที่เป็นทั้งฮอร์โมนและสารสื่อประสาท เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวและอุณหภูมิร่างกาย) รวมทั้งยังช่วยเพิ่มระดับโดปามีน (Dopamine-สารควบคุมอารมณ์และความรู้สึก) และเมลาโทนีน (Melatonin-ฮอร์โมนควบคุมการนอนและนาฬิกาชีวภาพ) ที่เป็นผลทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย และเมื่อร่างกายผลิตสารเคมีในระดับที่ดีออกมาเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้สุขภาพกายและจิตดี สามารถทำให้อาการป่วยทุเลาลงจนกลับสู่ภาวะปกติได้

ตามแนวคิดทางจิตวิทยา นักวิจัยได้ค้นพบหนทางที่ 1) คนปกติสามารถจะป้องกัน (prevention) การเกิดอาการป่วย และ 2) ผู้ที่ป่วยก็สามารถที่จะบำบัดรักษา (care) อาการป่วยได้ด้วยหนทางทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจำนวนมากรายงานผลการทดลองประสิทธิภาพการรักษาระหว่าง ก) การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ข) การรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว และ ค) การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ร่วมกับการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยา

และพบว่า การรักษาทั้ง 3 รูปแบบสามารถทำให้หายจากการป่วยได้ โดยให้รายละเอียดว่าการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว ถึงกระนั้นการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ร่วมกับการรักษาตามแนวคิดทางจิตวิทยาส่งผลให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด

อนึ่งที่สำคัญ สุขบัญญัติมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ อาทิ การกิน อยู่ หลับ นอนที่ดี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี จากประสบการณ์ในต่างประเทศ คำถามที่จะได้รับทุกครั้งเมื่อไม่สบายแล้วไปพบแพทย์ ได้แก่ “1) คุณนอนหลับ 6–8 ชั่วโมง/วันหรือไม่ 2) คุณออกกำลังกาย 2–3 ครั้ง/สัปดาห์หรือไม่ หรือ 3) คุณได้รับการผ่อนคลายทางจิตบ้างหรือไม่ และถ้าตอบว่า “ไม่” ให้คุณกลับไปปฏิบัติตามคำแนะนำ ถ้าครบ 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หายให้มาพบหมออีกครั้ง”

ท้ายที่สุดผู้เขียนก็ไม่เคยกลับไปพบหมอเลยสักครั้ง เพราะเมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมกับการดูแลสุขภาพจิตก็สามารถหายป่วยได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องพึ่งยา.

 

                                                                                                                รศ.ดร.ธิรตา ภาสะวณิช

                                                                                                              ภาควิชาพลานามัย

                                                                                                                คณะศึกษาศาสตร์

                                                                                                                มหาวิทยาลัยรามคำแหง

RANDOM

ม.มหิดล รับสมัคร “อาจารย์” หลายอัตรา ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ปฏิบัติงานที่ รพ.รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้สนใจยื่นใบสมัครได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 31 มี.ค. 67

error: Content is protected !!