สถานีความคิด : หากโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น แล้วการอยู่ร่วมกันในสังคมจะทำอย่างไร งานที่ท้าทายวิถีของคน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

หลังจากสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มจะคลี่คลายในหลาย ๆ ประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้มีหลายประเทศเริ่มประยุกต์แนวคิดอยู่ร่วมกับCOVID มากขึ้น โดยพิจารณาจากกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น สำหรับนักท่องเที่ยวจะไม่มีการตรวจหาเชื้อCOVIDก่อนเข้าประเทศ รวมถึงไม่มีการกักตัวนักท่องเที่ยว เช่น ในสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และมัลดีฟส์เป็นต้น  และอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และหลาย ๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไป

สำหรับในประเทศไทยแล้ว จากที่ได้มีการประกาศในช่วงต้นสัปดาห์ของมีนาคมซึ่งจะมีนโยบายที่จะผลักดันให้COVIDกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เสมือนกับโรคหวัดทั่วไปที่เราทุกคนประสบพบเจอ ซึ่งกำหนดการวางแผนนั้นเป็นไปตามเดือนต่าง ๆ ได้แก่ มีนาคมถึงต้นเมษายน จะมีการพยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูง เมษายนถึงพฤษภาคม จะเป็นการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น จนลดลงเรื่อย ๆ ปลายพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จะเป็นการลดผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1,000 – 2,000 ราย อัตราเสียชีวิต 0.1% และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป จะเป็นการประกาศให้COVID ในประเทศไทยเป็นโรคประจำถิ่น

ความท้าทายที่่ทิศทางการท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญในปัจจุบันนอกจากกระแสซบเซาด้านการท่องเที่ยวมากว่า 2 ปีแล้ว เมื่อมีการเปิดประเทศก็พบว่าจะเป็นเรื่องของการปรับกฎเกณฑ์ในช่วงโอมิครอน และการต้องสมัคร Thailand Pass จองแพคเกจโรงแรมพร้อมการตรวจแบบrt-PCR และประกันภัยหากมีการติดCOVID ก็ได้มีการร้องขอให้ทบทวนจากแวดวงผู้ประกอบการต่าง ๆ เนื่องจากในความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวมีความวุ่นวายยุ่งยากในการกรอกThailand Pass และต้องมีการตรวจrt-PCR แล้วจากประเทศต้นทาง

ซึ่งหากประกาศเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแท้จริง นโยบายดังกล่าวก็จะต้องมีการยกเลิกไปพร้อม ๆ กับนโยบายทางสาธารณสุข อย่างไรก็ตามความท้าทายที่สำคัญคือการปรับทัศนคติของคนไทยที่มีต่อCOVID เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวไม่แพ้ทัศนียภาพ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ก็คือความโอบอ้อมอารีที่เจ้าบ้านมีต่อผู้มาเยี่ยมเยือน แต่พบว่าจากการติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา คนไทยยังหวาดกลัวกับCOVID อย่างมาก อาจมีส่วนมาจากข่าวที่พยายามรณรงค์ให้คนไทยป้องกันดูแลตนเองและการประกาศตัวเลขรายวันมาตลอด 2 ปีกว่า และในช่วงระยะแรกที่ยังไม่มีการปิดประเทศ มีการเลือกปฏิบัติเช่นไม่ขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเนื่องจากกลัวCOVID อีกด้วย 

นอกจากนี้แล้วทัศนคติในการโทษว่าเป็นความผิดของผู้ติดCOVID ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นรัฐจึงควรที่จะแก้ปัญหาโดยการจัดการข้อความที่ส่งให้ประชาชน เน้นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการกลายเป็นโรคประจำถิ่นเฉกเช่นเดียวกับเมื่อพยายามให้ประชาชนดูแลตัวเองและรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีน ทั้งนี้ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาซึ่งมีการเดินทางเคลื่อนย้ายอย่างสูงจะต้องมีการประเมินภาพรวมสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมก่อนจะใช้แนวคิดโรคประจำถิ่นที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม

 

ผศ.ดร.กุลพิชญ์ โภไคยอุดม

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RANDOM

ศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เปิดรับสมัครคัดเลือก “อาจารย์” การสอนสังคมศึกษา และ จิตวิทยาและการแนะแนว ทั้งนี้ ตำแหน่ง อาจารย์ ภาควิชาหลักสูตรและวิธีการสอน หมดเขตรับสมัคร 28 ธ.ค. 66 และ ตำแหน่ง อาจารย์ จิตวิทยาและการแนะแนว หมดเขตยื่นใบสมัคร 15 ธ.ค. 66

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จับมือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ชวนคนรุ่นใหม่โชว์พลังสร้างสรรค์ ร่วมประกวดโฆษณาหนังสั้น “GLO Innovation Short Film Contest 2024” ชิงทุนการศึกษารวม 800,000 บาท สมัครเข้าร่วมโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 12 มี.ค. 67

error: Content is protected !!