บทสะท้อนจากความห่วงใยและสงสัย ต่อสมาคมมวยสากลกับวิธีคิด “การเปลี่ยนแปลงที่มองไม่เห็นฝั่งฝัน” ในความหวังโอลิมปิกเกมส์ 2024

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     มวยสากลสมัครเล่น เป็นกีฬาความหวังสูง ในการแข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิกเกมส์ ของไทยในทุก ๆ ครั้ง

      “ทีมมวยสากล” ของไทย ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศจีนที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้จะไร้เหรียญทอง แต่ก็สามารถคว้าโควตา ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ถึง 4 คน 4 รุ่น

     ผลงานจากเอเชี่ยนเกมส์ที่ได้โควตาไปโอลิมปิกเกมส์ ถือว่ารับได้บ้างกับผลงาน  แต่มันคงไม่ใช่แค่นั้น เพราะโจทก์ต่อไปของสมาคมกีฬามวยสากล คือการมุ่งไปที่ “ความหวัง” ของวงการกีฬา หรือประเทศ ในการประสบความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ในปีหน้า ที่กรุงปารีส

     แต่ด้วยมุมที่ว่า ขนาดระดับทวีปเอเชียเรายังไม่ถึงเหรียญทอง แล้วโอลิมปิกเกมส์ ที่รวมสุดยอดนักชกแต่ละรุ่น จากแต่ละทวีปนั้น เราจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ และควรต้องทำอย่างไร

     ทุกคนที่เฝ้าดู เล็งไปที่การปรับปรุงทุกอย่างใน กระบวนการหรือขบวนการทำทีมของ “มวยสากล” ทั้งการวางแนวทางการพัฒนาให้นักชก 4 โควตาโอลิมปิกเกมส์ที่ได้มาแล้ว และ การวางแผนล่าโควตาเพิ่มจากการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ “World Qualifying Olympic Tournament”  ที่ยังเหลืออีก 2 ครั้ง และ 1 ใน 2 ครั้งนั้นจะจัดในประเทศไทย

     แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเกิด และน่าแปลกใจก็เกิดขึ้นหลังเอเชี่ยนเกมส์

     เมื่อหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมมวยสากล คนไทยได้ขอลาออก ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเพราะเขาอึดอัด

     และยิ่งน่าแปลกใจ คือการตั้งสตาฟฟ์ผู้ฝึกสอนคนไทยชุดเดิม ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนแทน

     คนที่เฝ้ามอง และผู้เกี่ยวข้อง ต่างก็แสดงความคิดเห็นกันมากมายทันที ว่าการทำแค่นี้ของสมาคมมวยสากล มันจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือ

     ซึ่งไม่ใช่การหมิ่นฝีมือผู้ฝึกสอนชาวไทย แต่การที่จะเตรียมตัวก้าวสู่ระดับโอลิมปิกเกมส์ ควรต้องมีอะไรใหม่ ๆ มาเติมให้กับ “ทีมมวยสากล” ของไทยที่เป็นความหวังของคนทั้งชาติ เช่นหาผู้ฝึกสอนต่างประเทศดีกรีระดับโลก ซึ่งวงการยอมรับมาเสริมช่วย เป็นต้น เพื่อปรับระดับการสู้ศึกที่ไม่เหมือนเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ฝึกสอนดีกรีระดับโลกที่มาทำทีมของไทย หลายท่านทำหน้าที่ได้ดี มีเครดิตผลงานระดับโลก แต่กลับถูกเราทิ้งไป มันเหมือนกับการที่สมาคมมวยสากลไม่ได้สนใจในด้านนี้เลย ขณะที่วงการมวยสากลทั่วโลก แม้แต่ชาติที่เก่ง ๆ อย่างอุซเบกิสถาน จีน หรืออินเดีย เขายังยอมรับการใช้ผู้ฝึกสอนต่างชาติจากคิวบา ให้มาช่วยเติมเต็มนักชกของเขาเลย เรื่องนี้สมาคมมวยสากลของไทยควรปรับแนวคิดใหม่ไหม

     เพราะถึงแม้ผลงานเอเชี่ยนเกมส์ล่าสุดและโควตาโอลิมปิกเกมส์ที่ได้จะพอรับได้ แต่ทุกคนก็เชื่อว่าทีมมวยสากลของไทยหากจะมุ่งหวังในโอลิมปิกเกมส์ “ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำทีมหรือฝ่ายใดๆที่เกี่ยวข้องในการเตรียมทีม แต่สิ่งที่พบเห็นการตัดสินใจในวันนี้กลับเป็นการ “ใช้ของเดิมที่มีอยู่เพื่อกรุยทาง” 

     นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มหนึ่ง จากความไม่เข้าใจกับเรื่องการตัดสินใจของสมาคมในช่วงนี้ ที่เหมือนว่าจะไม่คิดจะเพิ่มเติมอะไร จึงน่าห่วงใย กับ ภาระหน้าที่ ที่คนทั้งชาติฝากความหวังเอาไว้ ในระดับโอลิมปิกเกมส์ ที่แตกต่างจากงานเอเชี่ยนเกมส์ แบบคนละชั้นของความเข้มข้น

     เรา Station THAI เขียนเรื่องตรงนี้ เพราะเห็นด้วยกับหลายคนที่มีสิทธิแสดงความห่วงใยซึ่งมองว่า สมาคมมวยสากลต้องเพิ่มของใหม่กับศึกใหญ่โอลิมปิกเกมส์

     และ ย้ำอีกทีที่เขียนเรื่องนี้ ด้วยความไม่เชื่อว่าของเดิมที่มีจะดีพอ เพราะอ้างอิงจากการได้ยินเสียงชัดๆ จาก ศ.เจริญ กระบวนรัตน์  ผู้รู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่พูดให้ฟังว่า “ผมกับทีมงานไปช่วยสร้างโปรแกรมและวางโปรแกรมฝึกซ้อมให้ทีมมวยมายาวนานอย่างน้อย 4 ปี แต่ทีมผู้ทำมวยชุดเอเชี่ยนเกมส์ที่ผ่านมา ทำทุกอย่างพังหมดในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน นี่คือความผิดพลาด

     คำเอ่ยของกูรูท่านนี้ คงเป็นข้อสรุปได้ดีส่วนหนึ่งว่า อะไรจะเป็นอะไร หากสมาคมกีฬามวยสากลยังใช้ กระบวนการคิดและทำแบบเดิมๆ และใช้ของเดิม ๆ เพื่อกรุยทางสู่ความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ที่ทุกคนทั้งชาติมุ่งหวัง

     ก็โปรดลองพิจารณา สมาคมกีฬามวยสากล ที่รัก.

RANDOM

error: Content is protected !!