เรื่องราวของ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช) ยังน่าสนใจ จากวันนั้นถึงวันนี้
จากตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในขณะนั้น ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ “ยึดอำนาจ” การทำงานในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช) ที่ขณะนั้นมี นายปริวัฒน์ วรรณกลาง เป็นอธิการบดี โดยกล่าวหาในเรื่องทุจริต สร้างปัญหาความขัดแย้ง และเมื่อยึดเสร็จก็ตั้งคณะบุคคล 8 คนเข้าทำงานแทนสภามหาวิทยาลัย และยกอำนาจการบริหารให้กับ นายวิษณุ ไล่ชะพิษ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
มี 2 ประเด็นที่ต่อเนื่องจากนั้นคือ การสอบข้อกล่าวหา “นายปริวัฒน์” และการเดินหน้าสรรหาอธิการบดีคนใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งการบริหารงานที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ 2 ปีนิดๆ การเดินหน้าในประเด็นแรก คือประเด็นสอบความผิดที่กล่าวหาจนนำพาให้เป็นเหตุผลการ “ยึดอำนาจ” ยังไม่จบ ขณะที่ประเด็นการเดินหน้าสรรหาอธิการบดีคนใหม่ของ มกช นั้น จาก 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เปลี่ยนหน้าเข้ามา แม้จะมีการดำเนินการเลือกได้คนตามการสรรหาแล้ว แต่ก็ยัง “เดินไม่สุดทาง” ที่จะได้มาซึ่งอธิการบดี มกช.คนใหม่…จนมาถึงสมัยนี้ที่มี “สรวงศ์ เทียนทอง” เป็นเจ้ากระทรวงคนล่าสุด-ปัจจุบัน ที่พยายามหาทางแก้ไข พยายามหาทางออก จนกระทั่งได้คำตอบจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ พ.ย.2567 ซึ่งพอสรุปได้ว่าการสรรหาคนเพื่อเสนอเป็นอธิการบดี มกช ที่ผ่านมานั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุว่าผู้ได้รับการคัดสรรนั้นจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลที่มีอยู่ รวม 8 คน (ที่หมายถึงผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้ 5 เสียงขึ้นไป) แต่กระบวนการคัดสรรนั้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้เพียง 4 เสียง จึงถือว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย
สรุปก็คือ ที่ผ่านมาทำผิดต้องทำใหม่
เมื่อพบเส้นทางชี้แนะจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่าต้องได้เสียง 5 เสียง ถึงจะเป็นกึ่งหนึ่งจากกรรมการบุคคล ซึ่งทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัย ที่จะเลือกรวม 8 คน ไม่ใช่ 4 เสียงที่คิดว่าเป็นกึ่งหนึ่งแล้วและได้ทำกันมา ทำให้เสียเวลามากเกิน 2 ปี และเมื่อพบทางออกเช่นนี้ “รมต.สรวงศ์” จึงดันเรื่องนี้กลับไปสู่การลงคะแนนใหม่ เมื่อเดือนก่อน และก็ปรากฏว่า “ง่ายมาก” เพราะมีธงอยู่แล้ว จึงแค่มีการลงคะแนนใหม่ และได้เลือกผู้ที่จะเสนอชื่อขยับจาก 4 เสียงเดิม ขยับเป็น 5 เสียงเป๊ะๆ และคณะบุคคลก็มีมติ ส่งชื่อ ผศ.ดร.วีรศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ที่เคยถูกคัดสรรและเสนอชื่อมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอสู่กระบวนการต่อไปอีกครั้ง คือ ขั้นตอนนำไปสู่การขอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ให้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่จะเป็นความสมบูรณ์ของกระบวนการนี้
ซึ่งวันนี้ยังรอกระบวนสุดท้ายนี้อยู่ ที่รู้กันว่ามีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ พร้อมความน่าเชื่อถือไม่น้อย ก็เป็นปกติของเส้นทาง ที่หากการเสนอไปมันไม่ใช่จริงๆ ก็ผ่านยาก
หากถามว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ “ในวงเสวนาเล็กๆ” ที่คุยกัน ท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่ให้เหตุผลร่วมกันว่า อยากจะให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีเร็วๆ งานในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะได้กลับสู่ความเป็นตัวของตัวเองตามพระราชบัญญัติของตัวเองกำหนดไว้เสียที
เพราะ 2 ปีที่ “ถูกยึดอำนาจ” นั้น มกช ก็เป็นเหมือนที่อื่นๆ ที่ถูกใช้อำนาจในลักษณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับกันว่ากลไกการขับเคลื่อนมีปัญหา สภามหาวิทยาลัย ควบคุม กำกับดูแลไม่ครบถ้วน การบริหารงานภายในโดยผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการดี ก็ไม่เต็มการจัดการ
ฉะนั้นหากเปลี่ยนแปลงกับไปสู่ทิศทางเดิมเร็วเท่าไหร่ย่อมดีกว่า เพราะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หลายแห่งที่โดนยึดอำนาจโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.แบบเดียวกันนี้ ช่วงเวลาที่ยังไม่ถูกปลดปล่อยก็วุ่นวาย เพราะองค์ประกอบของงานสภาและการบริหารไม่ครบถ้วน และบางสถาบันต้องทนอยู่นาน เป็นสิบปี กว่าจะได้กลับสู่การใช้ พรบ.ตัวเองในการบริหารจัดการเอง
และการจะได้ ผศ.ดร.วีรศักด์ (หากว่าได้) เป็นอธิการบดี อย่างน้อยก็ได้ “ลูกหม้อ” มาทำงานหน้าที่นี้ ซึ่งวงเสวนาก็มองว่าคงจะดีกว่าการได้ใครไม่รู้จากที่ไหนเข้ามาเป็นอธิการบดี
นี่คือเสียงส่วนใหญ่จากวงสนทนาเล็กๆ ในประเด็นนี้
ส่วนจากนี้ไปทุกอย่างจะเป็นความจริงและเรียบร้อยสมบูรณ์ เพื่อเดินทางต่อ ใน มกช ตามที่การสนทนาสรุปนี้ หรือไม่ แค่ไหน เมื่อไหร่ หรือจะอย่างไร คำตอบคือ ไม่ทราบได้เลย
จะตอบได้แบบรวมๆ ก็เพียงแค่ว่า ทุกอย่างจะผ่านได้ ต้องอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ทั้งกระบวนการที่ดำเนินการกันมา และตัวบุคคล ที่ถูกเลือกกันมา ถ้าเพียงพอก็คงผ่าน เหมือนหลายๆ สถาบันที่เคลียร์ตัวเองสำเร็จ แต่ถ้าหากว่าผู้ดูแลขั้นตอนสุดท้ายนี้ ยังมีข้อกังขา ก็คงต้องกลับมาเริ่มต้นอีก ก็เท่านั้น…จบ.