วงการกีฬาลุ้น “บอร์ดกกท.” ทบทวนมติขอยกเลิกการจัดเอเชี่ยนอินดอร์ หวั่นเหตุผล และความกระชั้นชิดของเวลา จะทำให้ชาติเสียหาย และหากไม่จัดจริง เชื่อว่าจะเป็นการทิ้ง “มรดกบาป” ให้กับวงการกีฬาไทยไปตลอดกาล

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

   คงจะข่าวที่โด่งดังแน่นอน หากว่ามีการดำเนินการ “จริง” กับเรื่องที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ซึ่งประชุมเมื่อ 31 พ.ค.2566 มีมติจะขอยกเลิกการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์ และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ไทยขอเป็นเจ้าภาพมาเองและกำหนดจะจัดในเดือน พ.ย.2566 ที่กรุงเทพ และ ชลบุรี ที่หากจะนับจริง ๆ นั้นเหลือเวลาไม่ถึง 6 เดือนดีแล้วที่มหกรรมนี้จะเริ่มต้นขึ้น

   โดยกระบวนการต่อไปหากไทยจะยกเลิกจริง คือ จะต้องแจ้งมติบอร์ด กกท.ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อระบุเหตุผลในการขอยกเลิก แล้วส่งต่อให้ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย แจ้งไปยังสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ โอซีเอ ที่เป็นเจ้าของเกมส์ (ซึ่งกว่าจะเสร็จกระบวนการนี้อาจจะเหลือเวลาไม่ถึง 4-5 เดือนก่อนงานจะเริ่มแข่งจริง) และต่อไป โอซีเอ ต้องเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุม ถ้าพิจารณาเห็นตามเราแจ้งนั้นก็จะแจ้งไปยังชาติสมาชิก 45 ชาติทั่วเอเชียถึงการยกเลิก ซึ่งหากนับเวลาที่กระชั้นนี้ อาจจะเหลือเวลาอีกไม่เท่าไหร่ก่อนถึงวันกำหนดแข่ง ที่ทุกชาติต้องเตรียมนักกีฬาเข้าร่วม ในการที่จะเสร็จสิ้นกระบวนการขอยกเลิกทั้งหมด

   ดูเหมือนง่ายๆ ครับกับการ “คิดและจะทำ” อย่างนั้น หากจะถามว่าทำได้ไหม คำตอบคือทำได้หากว่า “ผู้นำกีฬาไทย” คิดและอยากทำเช่นนั้นจริง ๆ

   แต่การขอยกเลิกและไม่จัดการแข่งขันระดับมหกรรมกีฬา “ส่วนสำคัญมันอยู่ที่เหตุผลการขอยกเลิก” จุดนี้จะเป็นมุมมอง หรือผลต่อเนื่องจากการ “กระทำ” ของประเทศไทย

   ในอดีตซีเกมส์ หรือ เซียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 2506 ประเทศกัมพูชา มีคิวจะเป็นเจ้าภาพแต่ปฏิเสธจัดเพราะปัญหาทางการเมือง จนต้องเลื่อนการจัดปี 2506 ออกไป และในครั้งนี้ก็มีมาเลเซียรับจัดแทนในปี 2508 และ ในซีเกมส์หรือเซียพเกมส์ครั้งที่ 4 กัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพก็ไม่เป็นเพราะปัญหาการเมืองอีก จนไทยต้องรับจัดแทนในปี 2510

   ในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 6 ที่กำหนดจัดโดยเกาหลีในปี พ.ศ.2513 แต่เหลือเวลาอีก 1 ปีมีสงครามในชาติเกาหลี จึงแจ้งเหตุผลปัญหา ทุกชาติสมาชิกเข้าใจ และมีมติขอให้ไทยรับจัดแทน และ เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 8 ที่ปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพ ในปี 2521 แต่ปรากฏว่าต้องขอยกเลิก เพราะปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจที่รุมเร้าในปี 2519 ก่อนที่จะจัด 3 ปี จึงขอยกเลิก และชาติสมาชิกก็เข้าใจจึงขอให้ไทยจัดอีก ประเทศไทยจึงถูกยกย่องอย่างยิ่งในการ “ช่วยเหลือวงการกีฬาของทวีป”

   ในระดับโอลิมปิกเกมส์ เหตุที่จำเป็นในการยกเลิกการแข่งขันในปี ค.ศ.1916 / 1940 และ 1944 เพราะปัญหาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่เป็นปัญหาซึ่งทำให้ต้องยกเลิก

   สรุปเหตุผลของทั้ง 3 มหกรรมกีฬาที่สำคัญนี้ ในการยกเลิกคือ เรื่องของสงคราม-การเมือง และเรื่องเศรษฐกิจที่รุมเร้าชาติจนเดินไม่ไหว (กรณีปากีสถานกับเอเชี่ยนเกมส์)

   คงมีคนถามว่า “แล้วเหตุผลของไทยในการที่จะขอยกเลิกครั้งนี้” คืออะไร !!!

   เพราะเท่าที่เห็นกันในปัจจุบัน ไทยไม่มีปัญหาการเมืองที่รุนแรง ไทยไม่มีสงคราม ไทยไม่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เลวร้าย เหมือนเหตุผลชาติอื่น ๆ ด้านบน ที่จำเป็นต้องยกเลิกหรือขอยกเลิกการแข่งขันกีฬาระดับนี้ที่มีผู้มีส่วนร่วมมากมายหรือมีผลตามมามากมายนอกจาก “การคิดผู้นำกีฬาไทย”

   เหตุผลที่มีการพูดถึง (เท่าที่ติดตามสอบถามมา) ประกอบด้วยสาเหตุดังนี้

   1.แรงกดดันจากหนังสือเมื่อ 29 พ.ค.2566ของ โอซีเอ ที่ให้ไทยดำเนินการในกระบวนการแบบเข้มข้น พร้อมทั้งเซ็นสัญญางานตามข้อตกลงที่ระบุกันไว้ จึงทำให้ไทยต้องเร่งตัดสินใจ

   2.การเจรจาเรื่องขอเงิน ที่กำลังคุยกับสำนักงบประมาณ เพื่อต่อถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเปิดทางให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ เพราะรัฐบาลอยู่ในช่วงสูญญากาศกับการอนุมัติเงิน ยังไม่คืบหน้า

   3.การที่จะพึ่งพา โดยการขอใช้เงินสะสมของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มาใช้ดำเนินการก่อน ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบที่จะให้

   และยังมีหลาย ๆ เหตุผลที่ใช้เป็นสิ่งอ้างอิงว่า “ต้องขอยกเลิก” ที่ฟังขึ้นบ้างฟังไม่ขึ้นบ้างก็ว่าไป

   จากกรณีนี้ กระแสความไม่เห็นด้วย จากความห่วงใย ที่เกิดขึ้นจากผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬา ตามมาทันที เพราะที่ผ่านมานั้นไทยได้เตรียมการไปมาก มากเกินกว่าที่จะถอยในเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้แล้ว จึงได้มีการพยายามเรียกร้องในฝ่ายที่เกี่ยวข้องดันคืนให้ บอร์ด กกท.ทบทวนมติการ “ขอยกเลิก” โดยเร็ว และเร่งหาทางเดินหน้าจัดต่อ เพราะเชื่อว่าถ้าเงินกองทุนเปิดให้ก็เดินได้ เพราะขนาดให้ยืมเงินไปถ่ายทอดสดกีฬายังทำได้ (คิดเอง) หากบอร์ดกองทุนจะช่วย หรือ ถ้าคุย กกต.ด้วยความเข้มข้นก็คงมีทางออกเพราะเหตุผลมีมากมายจากการเตรียมงานและผลเสียหากยกเลิก

   ที่นี่ Station THAI ขอสนับสนุนการเดินหน้า ให้บอร์ด กกท.ยกเลิกมติเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 และเร่งคุยกับทั้ง 2 ส่วนที่มาของเงินที่จะช่วยดันงานต่อไปได้ โดยมีเหตุผลเหมือนกันกับหลายฝ่าย และที่สำคัญคือ ไม่อยากให้การยกเลิกนี้ เป็น “มรดกบาป” ที่จะถูกบันทึกไว้ถึงเหตุผลการขอยกเลิกที่ดูไม่ชัด และแน่นอนสิ่งที่ตามมา คือการสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์เครดิตของไทย – เงินที่ลงทุนไป และเสียหายไปถึงองค์กรกีฬาโอซีเอ ที่เดินหน้าคู่กับเราในการเซ็นสัญญาด้านต่าง ๆ ไม่ใช่มีแค่เราทำ แล้วที่สำคัญ คือชาติสมาชิกไม่น้อยกว่า 45 ชาติที่เตรียมนักกีฬาและจัดการด้านต่าง ๆ แล้ว คงสาปส่ง “ประเทศไทย” กับเหตุผลที่อ้างและช่วงเวลาที่เป็นช่วงที่ทุกชาติสมาชิกได้ลงทุนลงแรงอย่างมากไปแล้ว

   สุดท้ายนี้ก็อยู่ที่บอร์ด กกท.แล้วล่ะขอรับว่าจะยังยืนมติขอยกเลิกการจัด ซึ่งถือเป็นการส่งต่อ “มรดกบาป” นี้ให้ไว้กับวงการกีฬาไทยหรือไม่ เพราะหากเกิดยกเลิกจริง ผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งเรา ทั้งชาติในทวีป หรือทั้งโลก จะจดจำเรื่องราวในมุมที่ไม่ดีนี้ตลอดกาล จากการบันทึกถึงเหตุการณ์ ที่ไม่เคยมีปรากฏแบบนี้จากฝีมือคนไทยคือมีเหตุผลที่น่าจะไม่เหมือนใคร และกระชั้นชิดแบบไม่มีใครเหมือน…ที่มาจากการคิดง่ายกันเกินไปไหมขอรับ

   “ฝากถึงบอร์ด กกท.ชุดประวัติศาสตร์นี้เพื่อพิจารณา”

RANDOM

ประกวดภาพถ่ายแมลง “ความหลากหลายของแมลงประเทศไทยในป่าและสิ่งแวดล้อม” Exploring Thailand’s Insect Diversity : Photo Challenge ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 300,000 บาท สมัครและส่งผลงานตั้งแต่บัดนี้ – 30 เมษายน 2567

error: Content is protected !!