ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ไม่ได้เป็นเรื่องของอนาคต แต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเพลงที่เราชอบในแอปฟังเพลง คัดเลือกคลิปวีดีโอให้ดูในแอป YouTube หรือ TikTok ช่วยเขียนอีเมล ไปจนถึงตอบแช็ตลูกค้า หรือแม้กระทั่ง การช่วยหาคำตอบให้เด็ก ๆ เอาไปส่งการบ้าน ความสามารถแสนฉลาดของ AI กำลังถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่ต่อสังคมและระบบการศึกษาทั่วโลกว่า เมื่อ AI ตอบได้ทุกอย่าง แล้วเด็กรุ่นใหม่ยังจำเป็นต้อง “คิดเอง” อยู่ไหม
ประเด็นนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยอย่างจริงจังในเวทีเสวนา “จากเกิดจนโต AI ทำอะไรกับลูกคุณบ้าง?” ในงาน “หุ่นยนต์ไม่กัด : เปิดโลกหุ่นยนต์และ AI แบบสนุก เข้าใจง่าย” ที่จัดโดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในแง่ของโอกาสและความท้าทายที่ AI นำมาสู่โลกการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ยุคใหม่
อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข
“เด็กสมัยนี้ไม่ต้องรอให้ใครมาสอนเนื้อหาความรู้แล้ว เขาเปิดแอปถาม ChatGPT ก็ได้คำตอบมาในไม่กี่วินาที ทั้งยังสร้างเนื้อหาได้ สรุปข้อมูลได้ บางคนถึงขั้นใช้วิเคราะห์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ ในขณะที่ เด็ก ดูเหมือนจะ “ฉลาดขึ้น” เพราะมีเครื่องมือที่ช่วยตอบคำถามได้ทันที แต่คำถามสำคัญกลับอยู่ที่ว่า พวกเขาได้ “คิด” ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นหรือเปล่า?” อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ FIBO กล่าวถึงพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่ที่ทั้งน่าทึ่ง แต่ก็น่าตกใจไปพร้อมกัน
ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ถ้าครูจะพบว่าการบ้านที่เด็กส่งมานั้น มีภาษาและเนื้อหาที่ลึกซึ้งเกินกว่าความเข้าใจที่แสดงออกมาในห้องเรียน ขณะเดียวกัน ครูเองก็เริ่มหันมาใช้ AI เพื่อช่วยในการออกข้อสอบ สร้างบทเรียน หรือแม้กระทั่ง ตรวจการบ้าน ปรากฏการณ์นี้กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างการ “ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพ” กับ “ใช้เทคโนโลยีแทนการใช้สมอง” เริ่มจางลงไป
สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องที่เด็กใช้ AI “ทำ” การบ้านให้ แต่คือการที่ AI กำลังทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญหลายอย่างไปโดยไม่รู้ตัว ทักษะสำคัญ อย่างการอ่าน การวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ล้วนเป็นทักษะที่ต้องอาศัยเวลา ความพยายาม และความอดทน แต่ AI กำลังย่อกระบวนการเหล่านี้ลงเหลือเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งแม้จะดูสะดวกสบาย แต่ก็อาจทำให้เด็ก ไม่เห็นคุณค่าของความพยายาม ไม่ได้ฝึกวินัย ขาดทักษะบางอย่าง และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ได้คิดหาคำตอบด้วยตัวเอง
“AI เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยม ถ้าใช้กับคนที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ อยู่บ้างแล้ว แต่มันไม่เหมาะกับเด็กที่ยังอยู่ในช่วงเรียนรู้ เพราะมันจะตัดกระบวนการเรียนรู้และการฝึกฝนทักษะหลายอย่างออกไปหมด เด็กอาจจะตอบคำถามได้เร็วขึ้น แต่ไม่เข้าใจคำตอบนั้นเลย” อาจารย์บวรศักดิ์ ชี้ให้เห็นถึงจุดที่อันตรายที่สุดของการใช้ AI หากขาดการไตร่ตรองให้ดี
ในต่างประเทศ หลายโรงเรียนเริ่มกำหนดนโยบายห้ามใช้ AI ระหว่างการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองก่อน เมื่อพวกเขามีฐานความเข้าใจที่มั่นคง จึงค่อยนำ AI มาใช้เสริม ไม่ใช่นำมาแทนที่การเรียนรู้ แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อ AI เริ่มสร้างปรากฏการณ์ “ห้องเสียงสะท้อน : Echo Chamber “ ที่ผู้ใช้งานได้รับแต่ข้อมูลที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว จนไม่ได้เปิดรับความคิดใหม่ ๆ และหากเสริมด้วยระบบรางวัลเล็ก ๆ แบบ Dopamine Reward ซึ่งทำให้รู้สึกดีทุกครั้งที่ใช้งาน AI ก็อาจนำไปสู่ภาวะ “เสพติดคำตอบจากเอไอ” โดยไม่รู้ตัว
“ในอนาคตอันใกล้ AI จะรู้ใจเรามากกว่าที่เรารู้ใจตัวเองด้วยซ้ำ และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราต้องเท่าทัน ไม่ใช่แค่ใช้เป็น แต่ต้องรู้ทันว่าเมื่อไรควรฟัง เมื่อไรควรถาม และเมื่อไรควรหยุดไว้ก่อน เพราะหากเราไม่ตั้งคำถาม กับ AI เราอาจถูก AI กำหนดชีวิตโดยไม่รู้ตัว” อาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญของการเท่าทัน AI
ในแง่ของระบบการศึกษา อาจารย์บวรศักดิ์ เสนอแนวทางว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการวัดผลด้วยคำตอบ มาเป็นการวัดผลด้วยกระบวนการคิด โดยการออกแบบโจทย์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จาก AI เช่น คำถามที่ไม่มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว หรือโจทย์ปัญหาจากชีวิตจริง เพื่อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้คำตอบ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ อาจไม่ใช่แค่ความรู้ แต่คือ “ทัศนคติ : Mindset” และ “ทักษะ : Skill “ ที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอดและเติบโตได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “แม้แต่ตัวผมเองก็ไม่แน่ใจว่า งานที่ทำอยู่จะอยู่ได้อีกกี่ปี เพราะ AI พัฒนารวดเร็วจนน่าตกใจ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องมี คือ หัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา” อาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้ในโลกอนาคต
แม้ว่า AI จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ มนุษย์เราต้องไม่ลืม “ตั้งคำถาม” ด้วยตัวเองอยู่เสมอ เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยคำตอบ ความสามารถในการตั้งคำถาม การคิด วิเคราะห์ และการเรียนรู้ตลอดเวลาต่างหาก คือ ความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์