“แพะกรุงศรี” จาก HEART of Halal สู่อาหารของทุกคน (Halal for All) กระตุ้นเศรษฐกิจในจ.พระนครศรีอยุธยา ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตกร ผลงานวิจัยรั้ว มทร.สุวรณภูมิ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

อาชีพเลี้ยงแพะ” คือ หนึ่งในอาชีพดั้งเดิมของเกษตรกรในชุมชนมุสลิมหลายพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเลี้ยงง่ายและมีความต้องการจากพี่น้องมุสลิมสูงทั้งในและนอกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แต่ในช่วงปี 2564 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ความต้องการบริโภคเนื้อแพะลดลง สวนทางกับปริมาณเนื้อแพะที่เพิ่มขึ้นจากการลักลอบนำเข้าแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดภาวะแพะล้นตลาด คนเลี้ยงแพะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เกิดความเสี่ยงที่อาจทำให้อาชีพเลี้ยงแพะลดน้อยลงหรือสูญหายไปจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ การเพิ่มความต้องการบริโภคเนื้อแพะในพื้นที่ให้มากขึ้น  ด้วยการเปลี่ยนกลุ่มผู้บริโภคเนื้อแพะจากอาหารสำหรับคนมุสลิม มาเป็นอาหารที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้ เช่นเดียวกับ เนื้อวัว ด้วยจุดเด่นที่สำคัญ คือ “มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ”  

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรณภูมิ) จึงได้ดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาผู้ประกอบการเกี่ยวกับแพะสู่ธุรกิจฮาลาล ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กรอบวิจัย LE  (การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพของเนื้อแพะให้ได้มาตรฐาน ด้วยคุณภาพและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ภาคีฉาย อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.สุวรรณภูมิ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า คำถามของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่เคยบริโภคเนื้อแพะ คือ ความไม่มั่นใจเรื่องมาตรฐานการเลี้ยงแพะ และกลิ่นสาบของเนื้อแพะ

ดังนั้น การทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจำนวน 300 ราย จาก 7 อำเภอ คือ อำเภอวังน้อย อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภออุทัย อำเภอภาชี อำเภอบางปะอิน และ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2565) มีความรู้และทักษะในการเลี้ยงแพะที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การผลิตเนื้อแพะที่มีมาตรฐาน สามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นสาบได้ 

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สนธยา มูลศรีแก้ว นักวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ ผู้รับผิดชอบ เรื่องการจัดการฟาร์มแพะ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลวิจัย พบว่า เนื้อแพะโตเต็มวัยที่อายุเกิน 1 ปี จะเริ่มมีกลิ่นสาบชัดเจน หากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะสามารถเลี้ยงแพะให้มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัมต่อตัว และขายออกไปในเวลาสั้นกว่า 1 ปี ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นสาบได้  

สำหรับกระบวนการเลี้ยงแพะให้ได้มาตรฐานและลดกลิ่นสาบ คือ 1. การเลี้ยงแพะพันธุ์ผสม ซึ่งโตเร็วกว่าแพะพันธุ์พื้นเมือง 2. อาหารที่ให้คุณค่าทางพลังงาน โปรตีน และแร่ธาตุ ตรงกับความต้องการของแพะ เน้นการใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น การเปลี่ยนจากข้าวโพดมาเป็นข้าวเปลือก  การนำใบและกิ่งของต้นกระถินมาเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนถั่วเหลือง ที่ต้องซื้อจากภายนอก  3. การถ่ายทอดเทคนิคการจัดการฟาร์มแพะที่ถูกต้องให้กับเกษตรกร   ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ นอกจากจะทำให้ได้เนื้อแพะที่ไม่มีกลิ่นสาบหรือมีกลิ่นสาบน้อยลงแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในการยกระดับสู่การเป็นฟาร์มเลี้ยงแพะที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม หรือ GFM (Good Farming Management : GFM)  ที่จะเป็นโอกาสในการก้าวสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดต่อไป

ฟาร์มแพะมาตรฐาน GFM

นอกจากนั้น ภายใต้โครงการระยะที่ 1  ยังมีการวิเคราะห์คุณลักษณะของเนื้อแพะในแต่ละส่วน และร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พัฒนาเมนูอาหารใหม่ ๆ ที่มีเนื้อแพะเป็นวัตถุดิบ เช่น แพะเตี๋ยวเรือ บาร์บิคิวแพะ ไปจนถึงเมนูสากล อาทิ พาสต้าแพะ สเต็กแพะ เป็นต้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แพะกรุงศรี อร่อยดี มีประโยชน์”  โดยได้รับการสนับสนุนการออกร้านในงานสำคัญ ๆ ของจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีทัศนคติที่ดีต่อการบริโภคเนื้อแพะมากยิ่งขึ้น

“ผลจากการดำเนินโครงการระยะที่ 1  ทำให้คนต้นน้ำและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแพะของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเห็นเป้าหมายร่วมของการสร้างตลาดใหม่ของเนื้อแพะ และเห็นความสำคัญของการสร้างระบบการจัดการฟาร์มที่ดี ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด Farm to Table ร่วมกัน ดังนั้น ในโครงการระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2567) จึงต้องการสร้างรูปธรรมของการส่งต่อเนื้อแพะจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะให้ถึงมือผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสรับประทานเนื้อแพะคุณภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แพะคุณภาพดี มีมาตรฐาน บนฐานวัฒนธรรม หรือ HEART of Halal for All” ดังคำที่ว่า “แพะกรุงศรี ต้องลอง ถึงรู้ว่าอร่อย”

ความสำเร็จสำคัญของโครงการวิจัยระยะที่ 2 คือ การผลักดันให้เกิด “เขียงแพะ” ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain)  ที่สามารถเชื่อมร้อยเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะกับตลาดผู้บริโภค ขายเนื้อแพะส่วนต่าง ๆ เช่น ส่วนน่อง ส่วนสันใน ฯลฯ  แทนการขายเป็นตัว ให้กับพ่อค้าคนกลางแบบเดิม  ถือเป็น “คานงัด” สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเนื้อแพะของจังหวัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร เล่าต่อว่า โครงการแพะกรุงศรี สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่การสร้างมาตรฐานของการเลี้ยงแพะให้ได้เนื้อแพะที่แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นสาบได้เป็นผลสำเร็จ มีฟาร์มแพะที่ผ่านมาตรฐานฟาร์มปลอดโรค GFM  จำนวน 3 ฟาร์ม   รวมไปถึงการที่สร้าง “เขียงแพะ” ที่เปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายแพะเป็นตัวสู่การขายเป็นส่วน ๆ   รวมถึงการจัดการปลายน้ำ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์จากเนื้อแพะ ภายใต้ชื่อ “แพะกรุงศรี” ทั้งหมดนี้สามารถทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ เกิดการบริโภคเนื้อแพะเพิ่มขึ้น 28 ตันต่อปี  เกิดการใช้ทรัพยากรทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 388.8 ตันต่อปี  เกิดการจ้างงานใหม่ 109 ตำแหน่ง และเกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่ปีละ 39.86 ล้านบาท ขณะที่ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้เฉลี่ยจากการเลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 6,700 บาท เป็น เดือนละ 83,000 บาท

โครงการแพะกรุงศรี คือ ตัวอย่างที่ดีของการนำแนวคิด  “คน-ของ-ตลาด” มาใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ก่อนจะมองย้อนกลับไปต้นน้ำ เพื่อหา Pain Point ที่แท้จริงของปัญหา ก่อนพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยและกระบวนการทำงานที่ดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม

RANDOM

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดประกวดภาพยนตร์สั้น “พราวไทย : Proud Thai สืบสาน อนุรักษ์ สร้างสรรค์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย” หัวข้อ “ อาหารไทย / นาค / รอยยิ้ม / ดนตรี” ชิงทุนการศึกษารวม 420,000 บาท สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 28 เม.ย. 66

ประกวด “e-Waste Hack BKK 2024” สร้างสรรค์ไอเดียเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นอุปกรณ์สุดเจ๋งเพื่อชีวิตที่ดีของคนกรุงเทพ ชิงเงินรางวัลรวม 600,000 บาท พร้อมโอกาสศึกษาต่อ สจล. หมดเขตรับสมัคร 14 มิถุนายน นี้

NEWS

ซีพีแรม เชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมปลุกจิตสำนึกรักษ์โลก ลด Food Waste ส่งผลงานเข้าประกวดคลิปวิดีโอ TikTok “ขอแค่ไม่ทิ้ง ก็เปลี่ยนโลกได้แล้ว” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 70,000 บาท สมัครและส่งผลงานได้ถึง 30 กันยายน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!