กับประเด็นที่มีนักกีฬาทีมชาติ บ่นระทมใจ เพราะมีเงินเดือนน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานขั้นต่ำเสียอีก…ที่นี่มีคำตอบ และ มีทางออกให้ครับ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     เรื่องไม่ร้อนมาก กับประเด็นเรื่องเงินเดือนนักกีฬา ที่มีอดีตนักกีฬาทีมชาติ และนักกีฬาปัจจุบันออกมาพูดถึง ดั่งน้อยอกน้อยใจว่า เงินเดือนน้อยกว่า คนงานที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่จะได้ต่อเดือนอีก

     “ไม่รู้จริงหรือ ไม่เข้าใจ หรือมีวาระอะไรซ่อนเร้นไม่รู้”

     แต่ขอเล่าถึง “เรื่องเงินเดือนนักกีฬาก่อน”

     สรุปเริ่มต้นก่อนเลยเรื่องเงินเดือนนักกีฬาไม่เคยมีครับ

     เพราะวงการกีฬาไทย นักกีฬาสมัครเล่น หรือ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศนั้น เขาไม่มีการให้เงินเดือนเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ในส่วนของนักกีฬาของสมาคมกีฬาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสมาคมกีฬาซึ่งลงท้ายด้วยแห่งประเทศไทย ของนักกีฬาปกติ และ นักกีฬาคนพิการ

     และขอสรุปง่าย ๆ ต่ออีกก็คือ…เงินที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาทีมชาติ จะมีก็แต่เป็นเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าที่พัก (ซึ่งให้เป็นรายหัว ต่อวัน) และ อีกส่วนคือ เงินรางวัลหากว่ามีผลงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทุกบาททุกเม็ดนั้นมาจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่จัดให้

     ซึ่งการจ่ายเบี้ยเลี้ยง-ค่าอาหาร-ค่าที่พัก นั้นก็จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงเก็บตัวก่อนการแข่งขัน และช่วงแข่งขัน โดยระยะเวลา (จำนวนวัน) เก็บตัวก่อนการแข่งขันยาวสั้นมากน้อยก็แล้วแต่ระดับการเข้าร่วม อย่างเช่น หากเตรียมเข้าแข่งโอลิมปิกเกมส์-โลก ก็ยาวมาก ระดับเอเชี่ยนเกมส์-เอเชีย ก็กลาง ๆ และ ระดับซีเกมส์-อาเซียน ก็ระยะเวลาสั้นหน่อย

     ที่ผ่านมา การเตรียมนักกีฬาระดับชาติก็จะมีช่วงเวลาซ้อน ๆ กันในบางชนิดกีฬาที่มีแข่งในงานกีฬาช่วงเวลา ใกล้เคียงกันบ่อยๆ จึงไม่แปลกที่นักกีฬาของบางสมาคมกีฬานั้นจะมีการเก็บตัวทั้งปี ทั้งกีฬาคนปกติ และกีฬาคนพิการ เพราะเตรียมงานนี้ไปส่งแข่งเสร็จก็กลับมาเตรียมแข่งรายการอื่น ๆ ต่อๆ กันไป

     เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเข้าใจได้ว่า ที่นักกีฬาบางคนพูดถึงเรื่องที่เป็นประเด็นมานี้ จึงน่าเป็นการจัดการของสมาคมกีฬานั้น ๆ ที่จะนำเบี้ยเลี้ยง รวม ๆ ไปจ่ายให้กับนักกีฬา 1 เดือนต่อครั้ง (จะ 30 วันหรือ 31 วันก็แล้วแต่เดือน)

     Station THAI ที่นี่ขอให้ข้อมูลว่า ตามประกาศของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่ประกาศในปี 2563 นั้น ระบุว่า การเก็บตัวฝึกซ้อมภายในประเทศ ค่าเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเหมาจ่าย ไม่เกิน 600 บาท/คน/วัน และ ค่าที่พักเหมาจ่าย 300 บาท/คน/วัน  (รวม 900 บาท) และอีกข้อที่ระบุคือ การฝึกซ้อมของนักกีฬา แบบที่ไป-กลับ นั้น นักกีฬาจะได้ไม่เกิน 300 บาท/คน/วัน

     ซึ่งหากเป็นช่วงเก็บตัวรอการแข่งขันจริง ๆ นั้น สมาคมส่วนใหญ่จะใช้การเก็บตัวแบบอยู่ร่วมกันประจำ และขอเบิกงบ 900 บาทต่อวันเพื่อนักกีฬา จากการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามประกาศของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ทีนี้เมื่อได้งบแล้วนั้น การจัดการของสมาคมกีฬานั้น ๆ จึงเกิดขึ้นกับทีมกีฬาของตนเอง

     ที่มีค่าใช้จ่ายที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอาหารตามโภชนาการ ค่าน้ำ ค่าเครื่องดื่มเสริม ค่าเดินทางไปสนามซ้อม (ถ้ามี) ค่าตอบแทนคู่ซ้อม และ ค่าอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการดูแลทีมนักกีฬาตัวเอง ซึ่งสมาคมใหญ่ ๆ ที่มีเงินถัง ไม่ลำบากแน่ ในการควักเองทั้งหมด แต่จะมีกี่สมาคมกีฬาที่มีเงินหนุนจนล้นกระเป๋าสำหรับเมืองไทย

     ฉะนั้นจึงเป็นที่มา ในการที่สมาคมส่วนใหญ่จะขอแบ่งจากค่าเหมาจ่ายนักกีฬาต่อวัน 600 บาท มาเป็น เบี้ยเลี้ยง วันละ 300 ค่าอาหาร วันละ 300 บาท  ยกเว้นบางสมาคมที่มีผู้สนับสนุนมาก ก็จะจัดการที่แตกต่างไป บางสมาคมอาจจะให้นักกีฬาทั้งหมด 600 บาทหรือมากกว่านั้นก็ได้ และก็เชื่อว่ามีคือ บางสมาคมอาจจะขอแบ่งมากกว่านั้น เพื่อที่จะนำไปให้คู่ซ้อม หรืออื่น ๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบมา ซึ่งการจัดการในเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจทางสมาคมกีฬา เพราะเป็นความจำเป็น เนื่องจากว่า นักกีฬาต้องกิน อยู่ร่วมกัน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่สมาคมต้องรับผิดชอบ ที่บางครั้งการเก็บตัวนั้น ส่วนเกินที่มีขึ้นและไม่มีงบหนุนนั้น ผู้ที่อยู่ไม่ได้ก็เป็นสมาคม

     นี่คือการยกตัวอย่าง ของการจัดการในสมาคมกีฬาไทย ที่เป็น กลุ่มกีฬาสมัครเล่น ในการดูแลทีมนักกีฬาของตัวเองช่วงเก็บตัว

     ในการที่นักกีฬาที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คงสรุปจากรายได้ที่สมาคมจ่ายให้รวมๆ รายวันแล้วจ่าย 1 เดือนครั้ง ตามที่ได้จากการจัดการ โดยมองแค่เงินที่ได้ แต่ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ได้อื่นๆ หรือมองรอบ ๆ มากกว่านี้ ที่หากจะพูดกันจริงๆ แล้ว (คุณอาจจะลืม) คือ “คุณได้มากกว่าสิ่งที่คุณเปรียบเทียบมาก” เช่น เทียบง่ายๆ คือ ผู้ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำนั้นเขาได้เงินมา เขาต้องไปหากินและจ่ายเอง หาที่พักเองและจ่ายเอง แล้วเขาเหลือเท่าไหร่เฉลี่ยต่อวัน และนี่ไม่นับสิทธิที่คุณได้ ในการเป็นทีมชาติ ที่วันนี้มีมากมายพอตัว (อย่าให้เหลาแยะเลย)

     ซึ่งในสถานะนักกีฬาทีมชาติ ที่เก็บตัวและร่วมแข่งในนามทีมชาติ นักกีฬาทุกสมาคมหลายร้อยคนวันนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนกันหมด ในฐานะนักกีฬาสมัครเล่น ที่ต้องยอมรับว่า นักกีฬาบางกลุ่มนั้น ได้สิทธิทุนเรียนฟรี (บางคนได้ตั้งแต่ยังไม่ติดทีมชาติ มีทั้งทุนให้ตั้งแต่ประถม จนปริญญาเอก) ได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนไปพร้อม ๆ กับได้เบี้ยเลี้ยงทีมชาติ ได้เงินรางวัลจากการแข่งขัน ได้นำชื่อเสียงทีมชาติไปต่อยอดอื่น ๆ แม้แต่การก้าวสู่ต่อสู่ระดับอาชีพก็มี… แต่สิ่งที่ดี ๆ อาจจะไม่มีสำหรับบางคน เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง แต่บอกตรง ๆ คือที่ผ่านมามีส่วนน้อยมากที่บ่นเรื่อง “ที่ควรได้” จากการเล่นทีมชาติอย่างนี้ ที่มุ่งเป้าไปที่รายได้อย่างเดียว  

      ที่เขียนถึงเรื่องนี้เพราะยอมรับว่าเราเองไม่เห็นด้วยกับ “การคิดเช่นนี้”  และยังเชื่อว่าผลได้ของทุกคนที่เข้ามาร่วมทีมชาตินั้นมากกว่า ความรันทดที่ได้ฟัง

     แต่อย่างไรก็ดี ถ้านักกีฬาจะมองเรื่องความว้าวุ่นใจในเงินอย่างเดียว…ที่นี่มีทางออกครับ สำหรับนักกีฬาที่กำลังคิดเช่นนี้แบบจริงจัง เพราะ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และกกท.เองก็อยากให้นักกีฬาสะดวกใจ สบายกายอยู่แล้ว เราจึงขอเสนอว่าตามสิทธิของคุณที่ต้องได้รวมวันละ 900 บาทนั้น คุณจะได้รับเต็มแน่นอน เพียงแต่ในช่วงเก็บตัวรวมกัน คุณไปบอกกับทางสมาคมกีฬาสังกัดของคุณว่าในช่วงเก็บตัว คุณจะหากินเองไม่กินอาหารที่สมาคมจัดให้กับเพื่อนๆ และจะหาที่พักเองไม่พักกับเพื่อนร่วมทีมในที่ๆ สมาคมจัดให้…ง่ายๆแค่นี้เอง

     “แล้วคุณจะได้เต็มๆ วันละ 900 บาท” และเมื่อรวมแล้วคุณจะมีรายได้ดีกว่าคนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน.

RANDOM

สำนักงานประกันสังคม ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา โชว์ไอเดียสร้างสรรค์ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “จ่ายประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร” และ “อาชีพอิสระอุ่นใจ ให้ประกันสังคมมาตรา 40 ดูแล” ชิงทุนการศึกษารวม 230,000 บาท หมดเขตรับสมัคร 31 ก.ค. 2567

อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

NEWS

error: Content is protected !!