ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดซีเกมส์ครั้งแรกที่ลาว และผ่านมา 14 ปี กัมพูชานำมาใช้เป็นครั้งที่ 2 ก็เรื่องของเจ้าภาพเขา..ส่วนไทยเราในฐานะผู้เข้าร่วมจะเกี่ยวตรงไหน อย่างไร จะจ่ายไม่จ่ายอยู่ที่เราใช่หรือไม่ !

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

  โดยขั้นตอนของเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ในระดับต่าง ๆ นั้น มันจะมีกลุ่มคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 กลุ่มก็คือ

1.เจ้าของงานกีฬา 2.เจ้าภาพจัดกีฬา 3.หน่วยงานหรือกลุ่มที่เจ้าภาพจัดกีฬามอบหมาย และ4.คนที่จะซื้อ

  ในระดับซีเกมส์หากไล่ตามกลุ่มที่เกี่ยวข้องนี้ก็คือ 1.สหพันธ์ซีเกมส์ 2.ประเทศสมาชิกที่จัดซีเกมส์ 3.กลุ่มหรือบริษัทที่ประเทศที่จะจัดมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ และ 4. คือชาติสมาชิกที่จะถูกเสนอขายลิขสิทธิ์ให้…และหากมีรายได้เกิดขึ้นผู้ที่มีส่วนได้ก็คือ 3 กลุ่มแรก ตามที่จะตกลงการแบ่งกัน

  หากว่ากันแล้ว ในระดับกีฬาซีเกมส์ “การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดซีเกมส์ในซีเกมส์ที่กัมพูชาไม่ใช่ครั้งแรก”

  เพราะครั้งแรกที่มีการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันซีเกมส์ เกิดขึ้นในซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ ในปี พ.ศ.2552 โดย บริษัท เพชรจำปาฯ จำกัด ได้รับมอบหมายจากเจ้าภาพให้เป็นตัวแทนในการขายลิขสิทธิ์ ให้กับชาติสมาชิก ซึ่งเน้นการขายเพื่อให้ออกอากาศทางช่องฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม โดยในประเทศไทยนั้น บมจ.อาร์เอส (RS) ได้รับสิทธิ์การจัดการทั้งหมด ซึ่งไม่ปรากฏว่าลงทุนกับการซื้อสิทธิ์นี้เท่าไหร่ แต่ตามรายงานข่าวช่วงนั้น ระบุว่า RS มีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดในไทย จะประมาณ 30-40 ล้านบาท

  เหตุผลจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของ สปป.ลาว ที่ถือเป็นทางการเต็มรูปแบบครั้งแรกนี้ ช่วงต้นมีการกล่าวอ้างว่าส่วนแบ่งรายได้ จะกลับไปเป็นของเจ้าภาพ และต้นทางคือสหพันธ์ซีเกมส์ (ที่หมายถึงเป็นรายได้ของกลุ่มสมาชิกทั้ง 11 ชาติ)

  “แต่ไม่มีข่าวปรากฏตามมาว่า ได้มีการส่งส่วนแบ่งของสิทธิประโยชน์ ถึงสหพันธ์ซีเกมส์เมื่อไหร่ หรือเท่าไหร่”….แต่จะแบ่งหรือไม่อย่างไร เราๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไร จึงไม่มีใครถามถึง

  มาถึงเรื่องที่ว่า…ทำไมถึงบอกว่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมีการขายอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบในซีเกมส์ครั้งที่ 25 และในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา นี้จะเป็นครั้งที่ 2

  คำตอบก็คือ เพราะที่ผ่านมา ก่อนจะถึงการขายลิขสิทธิ์ที่เป็นทางการครั้งแรกที่ สปป.ลาวนั้น ปกติเจ้าภาพจะทำหน้าที่เป็น Host Broadcaster และจัดตั้งศูนย์ผลิตสัญญาณ จากการแข่งขันเพื่อแจกจ่ายและให้บริการต่อชาติสมาชิก โดยเก็บค่าใช้จ่ายทางด้านเทคนิคและการบริการในอัตราตามความต้องการของสมาชิก ที่ส่งตัวแทนไปคุยเจรจา ตกลงกัน จะไม่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันที่เป็นทางการเต็มรูปแบบแต่อย่างใด เพราะมองว่าซีเกมส์ คือเกมที่กระชับความสัมพันธ์ เปิดทางให้มีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ได้มีการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ ตามแนวทางสหพันธ์ซีเกมส์ระบุไว้

  มาดูผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศดำเนินของ สปป.ลาว ในการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดครั้งแรกว่ามีความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง….

  “ตัวแทนทีวีพูล” ช่วงนั้น ได้พูดถึงในฐานะที่เคยรับสิทธิการถ่ายทอดสดซีเกมส์มาตลอดแต่ไม่ใช่ครั้งนั้น ระบุว่า “การทำเช่นนี้ เป็นการทำลายประเพณีการถ่ายทอดที่มีมาตั้งแต่ต้นทำให้การแข่งซีเกมส์กลายเป็นรูปแบบระบบธุรกิจอย่างเต็มตัว…และทีวีพูลไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้”

  และนอกนั้น ในกลุ่มคีย์แมนของคณะกรรมการโอลิมปิคของไทยเอง ก็คัดค้านอย่างมาก เพราะไม่เคยมีประเพณีปฏิบัตินี้มาก่อน

  แต่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของเจ้าภาพ ที่กระทำตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว

  จนกระทั่งทุกอย่างผ่านไป จากการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ปี พ.ศ.2552 จากนั้นมาระบบธุรกิจสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันซีเกมส์ ก็หายไป และกลับมาใช้ระบบเดิมคือ เจ้าภาพจัดทำแจก ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

  และเมื่อเวลาผ่านไป 14 ปี ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ที่จะเริ่มในเดือน พ.ค.2566 นี้ ระบบสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกลับมาอีกครั้ง

  ที่ในมุมของการดำเนินการนั้น ตามขั้นตอนต่าง ๆ (ดังที่กล่าวข้างต้น) “ไม่มีอะไรที่จะต้องตำหนิใครๆ” ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะถือเป็นเรื่องของเขาตามขั้นตอน 1-2-3 และไทยเราอยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือ ผู้ถูกขายหรือผู้ซื้อเท่านั้น

  “จะซื้อหรือไม่ซื้อ และหรือจะจ่ายเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ทางเราจะคุย ที่หากเราพอใจจากข้อตกลงและเงื่อนไขก็จ่าย ไม่พอใจก็จบ”

  ฉะนั้นการเฝ้าดูก็ดูไป เพราะมันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจึงไม่ต้องซีเรียสหรือคิดดราม่าอะไร กับการซื้อขายหนนี้ขอรับ.

RANDOM

error: Content is protected !!