สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมการประชุมวิชาการ “42 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารเป็นสุข” ประจำปี 2565

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมวิชาการ “42 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารเป็นสุข” การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ปรึกษางานโครงการตามพระราชดำริฯ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

โอกาสนี้ได้พระราชทานเกียรติบัตรแก่พระภิกษุ และคณะครู ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแข่งขันแนวปฏิบัติที่ดี ทั้ง 6 ด้าน จำนวน 39 ราย พร้อมทั้งพระราชทานโล่รางวัลสถานศึกษาดีเด่น แก่ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 18 ราย จากนั้นทรงบรรยายพิเศษเรื่อง “42 ปี โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยทรงเริ่มงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มาตั้งแต่ปี 2523 มีพระราชประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภาวะโภชนาการที่ดี และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เริ่มแรกทรงทดลองทำในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 3 โรงเรียน และต่อมาได้ขยายผลในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ ปัจจุบันดำเนินการโครงการในสถานศึกษาโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้ง 7 สังกัด รวม 890 แห่ง โดยฝึกให้นักเรียนลงมือปฏิบัติทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทั้งการปลูกพืชผัก ไม้ผล การเพาะเห็ด รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ อาทิ เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด สุกร เลี้ยงปลา แล้วนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน รวมทั้งส่งขายผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน นอกจากนี้ ยังฝึกให้นักเรียนขยายพันธุ์พืช และขยายพันธุ์สัตว์ สำหรับผลผลิตที่มีมากได้นำมาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทำให้นักเรียนมีความรู้และทักษะทางอาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต รวมทั้งยังขยายผลจากโรงเรียนไปยังผู้ปกครองและชุมชน ทำให้สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น เด็กมีอาหารรับประทานอย่างต่อเนื่อง และมีภาวะโภชนาการที่ดี อันนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ตลอดระยะเวลา 42 ปี โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ได้ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านอาหาร โภชนาการ สุขภาพอนามัย การศึกษา การงานอาชีพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ขยายการพัฒนาสู่ครอบครัวและชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานทางวิชาการแนวปฏิบัติที่ดีของหน่วยงานสถานศึกษาในโครงการตามพระราชดำริ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งนิทรรศการนวัตกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริของหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต

สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา และการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ แก่สาธารณชน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ร่วมกัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ หน่วยงานสถานศึกษาในโครงการตามพระราชดำริทั้ง 7 หน่วยงาน และโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการจัดงาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ขอบคุณภาพจาก :  ศตายุ วาดพิมาย นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพป.ตาก เขต 2

RANDOM

NEWS

สอศ. ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิด ‘ห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก’ ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี หนุนสร้างแรงงานคุณภาพสมรรถนะสูง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน

กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนนักออกแบบ ผู้ประกอบการ สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 ‘Design Excellence Award 2024’ (DEmark) จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 3 มิถุนายน 2567

error: Content is protected !!