ศธ. แถลงผลงาน 1 ปี ขับเคลื่อนการศึกษาทุกมิติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

วันที่ 27 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมขับเคลื่อนการศึกษาในทุกมิติ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการร่วมรับฟัง อาทิ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต ผู้ช่วย รมว.ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นต้น ณ สวนวันครู 65 บริเวณหน้าอาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “การศึกษาต้องสร้างให้คนไทยมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ 1. มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง 3. มีอาชีพ มีงานทำ และ 4. เป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย” เป็นแนวทางสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ตอบโจทย์ที่สำคัญเพื่อผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทุกคน ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 โดยเน้นการทำงานที่รวมใจบุคลากรในสังกัด ศธ. ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือ ทีมกระทรวงศึกษาธิการ (MOE One team) เพื่อร่วมกันผลักดันคุณภาพการศึกษาไทย สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับสังคม “TRUST” พร้อมสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ดังนี้

มิติเพื่อผู้เรียน For Learners ศธ. ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์ “MOE Safety Center” ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เพื่อให้ผู้เรียนที่ขาดโอกาส ได้เรียนฟรี มีที่พักมาตรฐาน ส่วนเด็กด้อยโอกาสและผู้มีความจำเป็นพิเศษ ได้รับโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษา จากการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลทั่วประเทศ”

มิติเพื่อคุณภาพการการเรียนการสอน FOR QUALITY TEACHING ศธ. ได้จัดทำ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ การศึกษาขั้นพื้นฐาน” เน้นสมรรถนะหลักที่สำคัญสำหรับเด็ก 6 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยหลักสูตร “Active Learning” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน โดยจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด” และ “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา” ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษา และตามบริบทเชิงพื้นที่ อีกแนวทางที่สำคัญ คือ โครงการ “โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่งต่อยอดจากโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีความหลากหลาย รองรับศักยภาพของผู้เรียนที่แตกต่างกัน

มิติเพื่อชุมชนและสังคม FOR THE BENEFIT OF COMMUNITY & SOCIETY ศธ. ให้ความสำคัญกับ “การศึกษาตลอดชีวิต” ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัย อย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการเข้าสู่สังคมสูงวัย จัดการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะ ส่งเสริมการมีงานทำ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น ทั้งการพึ่งพาตนเอง ความกตัญญู การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางปัญญา ด้วย “อารยเกษตร” เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะเยาวชนให้เป็นอารยเยาวชนไทย ด้านการช่วยเหลือประชาชน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทศกาลสำคัญ ภายใต้โครงการ “ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน” จาก 100 ศูนย์ Fix it Center ทั่วไทย ออกให้บริการซ่อมถึงบ้านฟรี สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “ช่างพันธุ์ R อาชีวะซ่อมทั่วไทย” ที่สำคัญได้ผลักดันร่างกฎหมายที่สำคัญของการศึกษาไทย คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

มิติเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา For Teachers and Educational Personnel ได้กำหนดโมเดล “การแก้ไขปัญหาบ้านพักครูทั้งระบบ” สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครู เพื่อความปลอดภัย และลดภาระค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกัน เร่งแก้ปัญหา “หนี้สินครู” โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อช่วยเหลือด้านหนี้สินครูทั้งระบบที่สะสมรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในด้านการพัฒนา มีหลายโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ ทบทวน ฝึกฝนทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ “New Normal” รวมถึงเปิดมุมมองให้ครูสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบทเรียนได้มากขึ้น ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญ คือ หลักสูตร “ตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม” เฟส 2 ที่กำลังอบรมอยู่ ผู้สมัครเข้าอบรมรวมกัน 10 หลักสูตร จำนวน 1,000,500 คน ถือเป็นหลักสูตรการอบรมออนไลน์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังได้ใช้กลไกการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการดำเนินงาน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เช่น ปรับเกณฑ์ประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ทั้ง 4 สายงาน โดยกำหนดให้ทำ “ข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือเกณฑ์ PA” รวมทั้งเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาครูชายแดนใต้ที่เสียชีวิตย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จำนวน 183 ราย รายละไม่เกิน 4 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ด้วย “เงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท” ได้รับถึงมือแล้วกว่า 11 ล้านคน พร้อมทั้ง “สนับสนุนผู้เรียนสายอาชีพ” โดยปรับอัตราค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อคน เพื่อให้ได้พัฒนาทักษะฝีมือให้เต็มศักยภาพ ฝึกประสบการณ์อาชีพได้อย่างเต็มที่ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง สร้างแรงจูงใจให้มีการเรียนต่อเพิ่มมากขึ้น และในปีการศึกษา 2565 นี้ ศธ.ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สถานศึกษาเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกัน ได้เร่งสำรวจข้อมูลและดำเนินการให้ครู บุคลากร และผู้เรียนทุกคนตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป ได้เข้ารับการฉีด “วัคซีน COVID-19” ซึ่ง ศธ.จะจัดแถลงข่าวความพร้อมเปิดเทอม ก่อนเปิดเทอม พ.ค.นี้

สำหรับความร่วมมือการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ International Cooperation in Education ตนได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 214 ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้ยูเนสโกขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศสมาชิก ในลักษณะโครงการข้ามสาขาวิชา (Cross Cutting Theme) พร้อมให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกลไกของความร่วมมือด้านการศึกษา

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีร่วมกันวิเคราะห์ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมภายหลังผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19

“พลังในการจัดการศึกษาแห่งอนาคต ดิฉันเห็นว่าย่อมไม่เป็นของครูผู้สอน บุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่จะเป็นพลังร่วมกันในการขับเคลื่อนการศึกษา ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาช่วยเติมเต็ม สร้างความมั่นคง เสริมความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ศธ.มุ่งมั่นบริหารจัดการศึกษา ให้ทุกภาคส่วนร่วมใจสร้างผู้เรียนที่ดีขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีกว่า “Better Learners for Better Future” ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสานต่อโครงการที่เกิดประโยชน์ เติมเต็มการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2565 เพื่อให้การศึกษาไทยเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาในทุกมิติ นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างแท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว

 

RANDOM

error: Content is protected !!