“เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” อุปสรรคพัฒนาประเทศ วาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไข

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

Station Thai จะขอพูดถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญทางการศึกษา ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นั่นคือ ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างระดมสมอง ค้นหาวิธีการที่จะช่วยให้การอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทยพัฒนาไปในทางดีขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึง โครงการภาคีพูนพลังครู ที่จะมาร่วมแบ่งปันความรู้ และทักษะการเรียนการสอนที่ได้ผล ช่วยให้เด็กอ่านออก เขียนได้มากขึ้น ผ่านไอเดียของ “คุณครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ” จากโรงเรียนบ้านหินลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ด้วยบันได 6 ขั้น ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนของ สพฐ. คุณครูศิริลักษณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์สอนหนังสือของตน ในแต่ละห้องจะมีนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านเขียนเกินครึ่ง และในจำนวนนั้นจะเป็นเด็กพิเศษที่เรียกว่า LD รวมอยู่ด้วย คุณครูจึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยการสอนเพิ่มเติมให้กลุ่มที่มีปัญหาการอ่านเขียน ทั้งในห้องเรียนและนอกเวลาเรียน พบว่า การฝึกฝนเด็กในช่วงประถมปลาย ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มเรียน และการสอนที่ไม่ต่อเนื่องเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้ามาก คุณครูจึงออกแบบเครื่องมือ ด้วยการใช้บันได 6 ขั้น สร้างการเรียนรู้ ร่วมกับการชักชวนนักเรียนที่มีทักษะภาษาไทยค่อนข้างดีมาเป็นจิตอาสา จับคู่เป็นบัดดี้คอยช่วยกระตุ้นให้เด็กพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ผลพลอยได้เด็กอาสาก็จะเก่งขึ้น และมีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้นด้วย

ซึ่งรายละเอียดของบันได 6 ขั้น มีดังนี้

ขั้นที่ 1 ฝึกอ่านทุกวันในช่วงพักกลางวันเพื่อความต่อเนื่อง โดยใช้หนังสือเรียน นิทาน คำ อักษรไทย

ขั้นที่ 2 ฝึกการอ่านควบคู่กับการเขียน โดยใช้อักษรไทย คำ ประโยค นิทาน

ขั้นที่ 3 ฝึกคัดลายมือ นอกจากจะทำให้ลายมือสวยงามแล้ว ยังเป็นการช่วยจดจำรูปคำต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย ขั้นที่ 4 การวาดรูปประกอบคำ ได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสนุกไปกับงาน โดยมีการจำแนกคำออกมาเพื่อให้นักเรียนเข้าใจการผสมคำมากขึ้น

ขั้นที่ 5 การนำคำมาแต่งเป็นประโยคสื่อสารรูป หรือเหตุการณ์จริง เช่น ใคร + ทำอะไร , ใคร+ทำอะไร+กับใคร ขั้นที่ 6 การเขียนคำตามภาพวาด โดยให้นักเรียนมีอิสระทางความคิดของนักเรียนเอง

โดยกระบวนการ 6 ขั้นนี้ เด็ก ๆ จะต้องผ่านไปทีละขั้น โดยมีนักเรียนอาสาและคุณครูคอยช่วยกัน เมื่อครบ 6 ขั้นแล้ว ก็เริ่มสอนขั้นที่ 1 – 6 ใหม่ ขยับยากขึ้นมาทีละน้อย และจากการฝึกฝนดังกล่าว พัฒนาการของเด็ก ๆ ดีขึ้นมาก เด็กมีความภูมิใจในตัวเอง เพราะอ่านออกเขียนได้มากขึ้น

ล่าสุด นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายกัมปนาท ศรีเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ลงพื้นที่ โรงเรียนบ้านอุมุง และโรงเรียนบ้านห้วยหินซาน้ำอ้อมพรหมมานุสรณ์ อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อติดตามการจัดการเรียนรู้ การอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนในพื้นที่ จากการคัดกรองเบื้องต้น พบว่า นักเรียนมีความเสี่ยงที่จะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 หรืออาจเกิดจากการเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องการอ่านออกเขียนได้ไม่ดีพอ โดยจะมีการสอนเพิ่มเติมช่วยให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ เพราะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน นอกจากจะใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เรื่องการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss)

โดยการสอนเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมให้นักเรียนมีคุณภาพ และเป็นอีกหนึ่งนโยบายของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เรื่องการอ่านออกเขียนได้ ภายใต้ “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” ซึ่งตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ทุกคน อ่านออกเขียนได้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 อ่านคล่องเขียนคล่อง และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีสมรรถนะการอ่านขั้นสูง

ขณะที่ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กล่าวว่า คุณครูต้องมีทักษะในการแยกเด็กที่มีภาวะเรียนรู้ช้า และ เด็ก LD ซึ่งหมายถึงเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบประสาทชนิดถาวร ทำให้สมองถูกจำกัดความสามารถในการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ หรือการจดจำ ได้อย่างถูกต้อง โดยใช้เครื่องมือ KUS-SI ซึ่งการจัดการเรียนการสอนเด็ก LD เน้นการพูด ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทย และการจัดกิจกรรมโดยครูภาษาไทยในช่วงเช้าทุกวัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองเดือน เมื่อเติมเต็มความรู้ให้เด็กได้ระยะหนึ่งแล้ว จะพบว่า เด็กจะสามารถอ่านออกเขียนได้ และมีความสุขในการเรียนรู้ แต่ถ้าเด็กยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็จะร่วมกันสร้างแนวทางการส่งต่อเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ต่อไป

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าคิดและต้องติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว ว่าจะสามารถลดจำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ลงได้มากแค่ไหน เพราะนอกจากจะเป็นปัญหากับตัวนักเรียนเองแล้ว ยังส่งผลถึงการพัฒนาประเทศในอนาคตอีดด้วย เพราะกำลังคนที่มีคุณภาพ ย่อมส่งผลให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!