มจธ. เปิดรับสมัครนักศึกษา ‘ทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต’ เรียนต่อป.เอก รับสมัครรอบแรก 3 เม.ย. – 13 พ.ค. และ รอบที่สอง 7 พ.ค. – 17 มิ.ย. 67

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับสมัครนักศึกษาโครงการทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต ระดับปริญญาเอก ภาคการศึกษาที่ 1/2567 (เริ่มการศึกษา สิงหาคม 2567) สมัครเข้าศึกษา รอบที่ 1 (นักศึกษาไทยและต่างชาติ) วันพุธที่ 3 เมษายน – วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 รอบที่ 2 (เฉพาะนักศึกษาไทย) วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม – วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของทุน
1. สนับสนุนการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของนักศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย
2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการศึกษาและการควบคุมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยมหาวิทยาลัย ในการทำงานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และสังคม

คุณสมบัติทั่วไป
1. เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ประพฤติตน หรือ เคยประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสีย
2. เป็นผู้ที่พร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านวิชาการ สังคม และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
3. เป็นผู้ที่สามารถศึกษาให้สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาการศึกษาสูงสุดของหลักสูตรที่นักศึกษาเข้ารับการศึกษา
4. สามารถเรียนในหลักสูตรเต็มเวลาได้
5. คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

คุณสมบัติด้านการศึกษา
1. ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในระดับปริญญาตรี หรือ
2. มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในระดับปริญญาตรี ไม่น้อยกว่า 3.25 และได้รับเกียรตินิยมอันดับสองในระดับปริญญาตรี และอยู่ใน 20% แรกของชั้น โดยมีหนังสือรับรองจากสำนักงานทะเบียนนักศึกษา หรือ
3. มีผลการเรียนระดับปริญญาโทอยู่ในระดับดีมาก โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3.50 หรือ
4. กรณีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แผนการศึกษาที่ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียว ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ อย่างน้อย 1 ฉบับ หรือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแผนการศึกษาอื่น ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 3.50 แต่ไม่ต่ำกว่า 3.25 ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ อย่างน้อย 1 ฉบับ
5. ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่คาดว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือ ระดับปริญญาโท ในสถาบันอุดมศึกษาที่สำนักงานกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง ก่อนการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 และจะลงนามในสัญญาได้ต่อเมื่อมีใบรับรองการจบการศึกษา
6. ผู้สมัครต้องไม่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก หรือ ผู้สมัครต้องไม่เคยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาก่อน
7. ผู้สมัครต้องสามารถแสดงออกถึงเหตุผลและความจำเป็น และความรู้ความเข้าใจในระดับที่น่าพอใจในสาขาวิชาที่จะทำวิทยานิพนธ์ โดยการประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ และจากเรียงความที่เขียนด้วยตัวเอง (Statement of Purpose) ความยาวประมาณ 600 คำ
8. ผู้สมัครที่เคยทำวิทยานิพนธ์ หรือ ทำวิจัย หรือ เลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้กลุ่มวิจัยที่มีผลงาน หรือ มีศักยภาพที่จะสร้างผลงานที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจและสังคม จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
9. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษา/ทำงาน และมีเจตคติที่ดี จากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคยควบคุมปริญญานิพนธ์ หรือ วิทยานิพนธ์ และผู้บังคับบัญชา (ในกรณีที่เคยทำงาน)
10. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองจากอาจารย์ที่จะรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการรับทุน
11. ผู้สมัครสามารถส่งเอกสารเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัย และด้านวิชาการอื่น เพื่อสนับสนุนได้
12. ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศจริง และจะต้องแสดงหลักฐานในการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน หากเอกสารไม่ครบภายในระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือ คุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศ อันมีผลทำให้ผู้สมัครไม่มีสิทธิสมัครรับทุน ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการสอบคัดเลือกตามประกาศนี้ และให้ถือว่าการรับสมัครและการได้เข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ เป็นโมฆะสำหรับผู้นั้น และจะใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ กับมหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งสิ้น

หากมีการตรวจสอบเอกสาร หรือ คุณสมบัติในภายหลัง ปรากฏว่า ผู้ได้รับทุนรายใดไม่มีคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือ ขาดคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งตามประกาศ ให้ถือว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการสมัครรับทุนในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัยตามที่กำหนดในข้อ 12

อนึ่ง หากมหาวิทยาลัยตรวจสอบแล้ว พบว่า ผู้สมัครรายใดมีเจตนาปลอมแปลงเอกสาร และใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น ไม่ว่าทั้งหมด หรือ บางส่วน จะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

เงื่อนไขในการรับทุน
1. ผู้ได้รับทุนจะต้องทำสัญญาการรับทุน และสัญญาค้ำประกันให้เรียบร้อย
2. ผู้ได้รับทุนจะได้รับค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน และค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้
3. มหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้รับทุนให้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องเป็นรายปี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ได้รับทุนจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม เมื่อสิ้นปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.50 สำหรับผู้ได้รับทุนที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าที่กำหนด หากในภาคการศึกษาต่อมามีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 อาจได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนต่อไปได้
(2) ผู้ได้รับทุนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการทำงานวิจัย และในการดำเนินการตามแผนการศึกษาที่วางไว้ เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพและในเวลาที่กำหนด โดยต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าทุกภาคการศึกษา และนำเสนอรายงานความก้าวหน้าตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด มิเช่นนั้น อาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง
(3) ผู้ได้รับทุนจะต้องเข้าร่วมสัมมนา แลกเปลี่ยนความรู้ หรือ เข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาอื่น ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยได้แจ้งให้เข้าร่วม และจะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านวิชาการ สังคม และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ หากผู้ได้รับทุนไม่เข้าร่วมกิจกรรมข้างต้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร มิเช่นนั้น อาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง
4. ผู้ได้รับทุนอาจได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาบางส่วนได้ แม้ไม่สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตร แต่ไม่เกินระยะเวลาการศึกษาสูงสุดของหลักสูตร
5. กรณีผู้ได้รับทุนกระทำผิดวินัยนักศึกษา หรือ เป็นบุคคลที่มหาวิทยาลัย เห็นว่า มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างแรง หรือ เหตุอื่น ๆ อันไม่เหมาะสมที่จะได้รับทุน มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัย

ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุน ดังนี้
1. ค่าเล่าเรียนตามหลักสูตร (ค่าหน่วยกิต ค่าบำรุงการศึกษา และค่าประกันอุบัติเหตุ) ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้
2. ค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 18,000 บาท ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผนการศึกษาของหลักสูตร และเมื่อผู้รับทุนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ผ่าน จะได้รับค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือนเพิ่มเติมอีก 4,000 บาท ในเดือนถัดไป นับจากเดือนที่ได้รับผลการสอบ ซึ่งผู้ได้รับทุนต้องดำเนินการส่งผลสอบ โครงร่างวิทยานิพนธ์แก่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลการสอบดังกล่าว ทั้งนี้ จะได้รับค่าครองชีพและค่าครองชีพเพิ่มเติม ภายในระยะเวลาตาม
แผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้ ทั้งนี้ หากผู้ได้รับทุนแจ้งผลการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์แก่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาตามวรรคแรก ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เดือนถัดไปนับแต่วันที่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาได้รับผลสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์จากผู้ได้รับทุนตามแบบฟอร์มที่กำหนด
3. ผู้ได้รับทุนอาจขอรับเงินสนับสนุนความก้าวหน้างานวิจัยเพิ่มเติม หากมีผลงานบทความวิจัย โดยเป็นผู้เขียนชื่อแรก (First Author) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏใน
(1) ฐานข้อมูล Web of Science และ
(2) Quartile 1 หรือ Quartile 2 ของฐานข้อมูล Scopus เมื่อพิจารณาจาก CiteScore ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ที่ประกาศล่าสุดในวันที่ส่งผลงานวิจัยตีพิมพ์ โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผลงานบทความวิจัยที่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ (Accept Email/Accept Letter) จากวารสารวิชาการระดับนานาชาติใน Quartile 1 จำนวน 1,500 บาท ต่อเดือน ต่อ 1 บทความ และใน Quartile 2 จำนวน 500 บาท ต่อเดือน ต่อ 1 บทความ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะให้เงินสนับสนุนในเดือนถัดไป หลังจากที่ได้ดำเนินการส่งหลักฐานการตอบรับการตีพิมพ์มายังกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา พร้อมแบบฟอร์มที่กำหนดอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะให้เงินสนับสนุนดังกล่าวภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น
4. เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของผู้รับทุนโดยใช้ในภารกิจที่มีความจำเป็น และบรรลุวัตถุประสงค์การทำวิจัย เพื่อสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กรณีแผนการศึกษา 3 ปี ไม่เกิน 150,000 บาท กรณีแผนการศึกษา 4 ปี ไม่เกิน 200,000 บาท และ กรณีแผนการศึกษา 5 ปี ไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
5. ค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ 1 ครั้ง 1 ประเทศ ไม่เกิน 6 เดือน ดังนี้
(1) อัตราค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือนในต่างประเทศเพิ่มเติมจากที่ได้รับอยู่ ในวงเงินไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(2) ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารชั้นประหยัด ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าประกันการเดินทาง, ค่าประกันสุขภาพ, ค่าประกันอุบัติเหตุ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

การรับทุนค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศข้างต้นนั้น กรณีผู้ได้รับทุนมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปภายหลังจากครบระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรไปแล้ว ผู้ได้รับทุนจะต้องเสนอแผนการเดินทางและงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะสั้นดังกล่าวต่อผู้ให้ทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตร จึงจะได้รับค่าใช้จ่ายกรณีทำวิจัยระยะสั้นในต่างประเทศข้างต้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://shorturl.asia/nTomc

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/YcwxW

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-470-8425 หรือที่ อีเมล admission@kmutt.ac.th

RANDOM

NEWS

error: Content is protected !!