สจล. ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ผู้ตรวจรับรอง-ผู้เชี่ยวชาญ’ มาตรฐานสากล ขับเคลื่อนไทยสู่ฮับเกษตรอินทรีย์

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (EarthSafe) ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเร่งสร้างบุคลากรเป็น ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ ตามหลักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เพื่อเสริมทัพการตรวจประเมินและให้การรับรองเกษตรอินทรีย์ พืช สัตว์ อาหารแปรรูป โรงคัดแยกบรรจุ สนามกอล์ฟ และ รีสอร์ทออร์แกนิก มุ่งเป้าพัฒนาเครือข่ายต้นแบบสังคมการเกษตร–อาหารออร์แกนิก ไร้สารพิษ ร่วมผลักดันไทยสู่ ‘ฮับเกษตรอินทรีย์’ (Organic Agriculture) ที่ยั่งยืนและก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ (RIMOA) สจล. และ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (EarthSafe) ซึ่งเป็นเครือข่ายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยตามแนวศาสตร์พระราชา ได้ลงนามความร่วมมือตามข้อตกลง MOU เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการทำ ‘เกษตรอินทรีย์ยุคใหม่’ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากการใช้นวัตกรรมในการทำเกษตรอินทรีย์สนับสนุนแบบครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ เผยแพร่งานวิจัยจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์และชีวภัณฑ์แล้ว ทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มในการใช้นวัตกรรม พัฒนาตลาดช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศที่เข้าถึงง่าย และการรับรองเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

สจล. จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตบุคลากร ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ (Organic Inspector) และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ (Organic Expert) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตรวจประเมินคุณภาพ และการออกใบรับรองเกษตรอินทรีย์ของ Earthsafe powered by AATSEA-RIMOA-KMITL โดย ‘สมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (Associaion of Agricultural Technology in Southeast Asia : AATSEA) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร รับรองเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า ทั้งนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายพัฒนา ‘กิน-อยู่-เที่ยว-เล่น ปลอดภัย’ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมโลกในภาพรวม ช่วยเกษตรกรไทยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปกติจะคิดกันหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศในด้านการเกษตรแม่นยำและยั่งยืน ยกระดับผลิตผลการเกษตรและอาหารไทยไร้สารเคมี ผลักดันให้ครัวไทยเป็นครัวโลกที่มีคุณภาพ และสุขภาพดี ซึ่งเป็น Soft Power ที่อร่อยและปลอดภัย ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารอย่างเพียงพอ (Food Security) ตลอดจนช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมออร์แกนิก ทั้งภาคการเกษตร การผลิต บริการ และส่งออก ภายใต้แนวทางการพัฒนา BCG : Bio- Circular-Green Economy ของรัฐบาลไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ

ด้าน รศ. ดร.เกษม สร้อยทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สจล. กล่าวว่า การอบรม ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ จัดขึ้นปีละครั้ง ต้องเป็นบุคคลที่ต้องผ่านการคัดเลือก เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม เสียสละ และต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่ง ‘ผู้ตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์’ จะได้รับใบอนุญาตระยะ 1 ปี การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นการประกันว่าสินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพและปลอดภัย ภายใต้หลักเกณฑ์การรับรองระดับสากล

การถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการและประสบการณ์แก่บุคลากร ‘ผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์’ และ ‘ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์’ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การสาธิตและฝึกอบรม การตรวจสารพิษตกค้าง (Pesticide Detection) , ฟอร์มาลีน , Salmonella E coli, Nitrate เป็นต้น ในผลผลิตพืชอินทรีย์ (Organic) , GAP จากตลาดสด รวมถึงการตรวจธาตุอาหารพืช ไนเตรท และโลหะหนักที่ตกค้างในดิน – น้ำ , การทำดินออร์แกนิกเพื่อปลูกพืช เรียนรู้การเปรียบเทียบดินเคมีและดินธรรมดา สามารถให้คำแนะนำเกษตรกรหยุดใช้สารเคมีทุกชนิด แนะนำเทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อใช้ทดแทนสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา ยารักษาโรคพืชต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมทั้ง พืช สัตว์ อาหารแปรรูป โรงคัดแยกบรรจุ สนามกอล์ฟออร์แกนิก และ รีสอร์ทออร์แกนิค พร้อมทั้งแนะนำแนวทาง Zero Waste อาทิ การนำเศษหญ้า เศษอาหารเหลือทิ้ง มาทำปุ๋ยใช้เองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ ‘การตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้าง’ ในพืชผล ผลิตภัณฑ์ หรือ แหล่งผลิต จะดำเนินการผ่าน ‘ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์ และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC)’ ซึ่งเป็นแล็บมาตรฐาน ISO ด้านเกษตร อาหาร และยา แบบครบวงจร โดยจะต้องผ่าน ‘เกณฑ์มาตรฐาน Earthsafe-AATSEA-KMITL 4 ด้าน’ ได้แก่ 1. ไร้สารพิษ สารเคมีตกค้างในผลผลิต 2. ปลอดสารไนเตรท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในผู้บริโภคและเกษตรกร 3. ปลอดภัยเชื้อโรคมนุษย์ เช่น Salmonella , E. coli และ 4. ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารโลหะหนัก อีกทั้งช่วยย่นระยะเวลาดำเนินการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีความแตกต่างจากหน่วยงานรับรองอื่นทั่วโลก ซึ่งหากผ่านการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง จาก AMARC แล้ว จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทันที

RANDOM

NEWS

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.ศรีปทุม เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน ร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ในหัวข้อ “WellTech Entrepreneur : Good Health and Well-being” ชิงทุนการศึกษา ส่ง Concept Idea เข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 10 พ.ค. 67

error: Content is protected !!