“ชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร” ผลงานนักวิจัย จุฬาฯ ตรวจการตั้งท้องของสุกร ใช้ง่าย แม่นยำ ช่วยเกษตรกรวางแผนบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สุกรท้องหรือไม่ ? ตอบได้ง่าย ๆ ด้วย “ชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกร” นวัตกรรมของนักวิจัยจุฬาฯ เพื่อตรวจการตั้งท้องของสุกรสาว ใช้ง่าย เกษตรกรตรวจเองได้ แสดงผลเร็ว และแม่นยำ ช่วยเกษตรกรวางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ ฟาร์มสุกรในกว่า 10 ประเทศ นำไปทดลองใช้แล้ว

ศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ (คนกลาง)

การสังเกตการตั้งท้องของสุกร เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และปัญหาหลัก คือ สุกรเพศเมียบางตัวไม่แสดงอาการ ทำให้มีโอกาสวินิจฉัยการตั้งท้องผิดพลาด จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จากผลงานของทีมวิจัย รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส ร่วมกับ ทีมวิจัยของ ศ.ดร.นสพ.เผด็จ ธรรมรักษ์ แสดงให้เห็นผลเบื้องต้นของการใช้แถบทดสอบที่เตรียมขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการในการช่วยแก้ไขปัญหาได้ ศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรมแถบทดสอบที่ใช้ตรวจหาโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว (Progesterone Test Kit)

“เนื้อสุกรเป็นที่นิยมในการบริโภคอย่างมาก เป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร การบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจ และการผลิตอาหารสำหรับประชาชน การตรวจสอบความพร้อมในการตั้งท้องของสุกร หรือ การตั้งท้องของสุกร จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจเลี้ยงสุกร และ มีผลต่อการวางแผนการจัดการซื้อขายสุกรในอนาคต” ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวถึงความสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมทดสอบการตั้งท้องในสุกร

สำหรับเกษตรกรผู้มีประสบการณ์จะใช้การสังเกตลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม และอาการของสุกร เพื่อดูว่าสุกรพร้อม หรือ ตั้งท้องแล้วหรือไม่

เกษตรกรจะดูว่าสุกรมีอาการของการเป็นสัดหรือไม่ โดยดูการตอบสนองของสุกรเพศเมียต่อสุกรเพศผู้ เพื่อช่วยวินิจฉัยการตั้งท้องระยะต้นของแม่สุกร โดยอาศัยความชำนาญของแต่ละบุคคล ในปัจจุบันนอกจากวิธีการตรวจสอบด้วยประสบการณ์แล้ว ยังมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำกว่า เรียกว่า ELISA Test (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)

“วิธีนี้เป็นการตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว ซึ่งโปรเจสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้ามีระดับฮอร์โมนตัวนี้มาก แสดงว่ามีโอกาสตั้งท้องสูง” ศ.ดร.ศิริรัตน์ อธิบาย

แต่การตรวจการตั้งท้องด้วย ELISA Test มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องมีการวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และมีผู้เชี่ยวชาญช่วยอ่านผลจากเครื่องมือ นอกจากนี้ ราคาการตรวจยังค่อนข้างสูงอีกด้วย คือ ตัวอย่างละประมาณ 500 บาท ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การใช้ ELISA Test ไม่เป็นที่นิยมใช้กับฟาร์มสุกรในเมืองไทย

และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร (Progesterone Test Kit) เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดต่าง ๆ ให้เกษตรกร

“ชุดตรวจนี้เกษตรกรสามารถใช้ทดสอบการตั้งท้องของสุกรได้ด้วยตัวเอง พกพาง่าย และใช้งานสะดวก แสดงผลไว ไม่ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่ซับซ้อน และราคาไม่แพง” ศ.ดร.ศิริรัตน์ สรุปจุดเด่นของชุดทดสอบการตั้งท้องในสุกร

ชุดทดสอบนี้จะตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร โดยการเอาตัวอย่างเลือดจากสุกร อาจจะเจาะบริเวณใบหูของสุกร เพื่อเก็บเลือดประมาณ 3 หยด หรือ จะใช้ซีรั่มที่เป็นน้ำใส ๆ ด้านบนเวลาตั้งเลือดทิ้งไว้ แล้วเอาสารคัดหลั่งดังกล่าว มาหยดลงบนแถบทดสอบ (Strip Test) ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ทราบผลทดสอบ คล้ายกับการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK

การอ่านผลไม่ยาก ถ้าผลเป็นบวก ชุดทดสอบจะขึ้น 1 ขีด หมายถึง ระดับโปรเจสเทอโรนมีมากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร แปลว่า มีฮอร์โมนสูงพอที่จะตั้งท้องได้ โดยควรจะทำการตรวจระหว่าง 18-24 วัน ภายหลังการผสมพันธุ์

แต่ถ้าผลทดสอบเป็นลบ จะขึ้น 2 ขีด หมายถึง ระดับโปรเจสเทอโรนมีน้อยกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สุกรไม่ตั้งท้อง

“การตรวจสอบนี้จะช่วยจำแนกสุกรเพศเมีย ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ และทำให้ผู้ประกอบการรู้ได้ว่า สุกรสาวตัวนั้นพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์หรือไม่ ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการต้นทุน และการดูแลฟาร์มได้อย่างเหมาะสม”

ศ.ดร.ศิริรัตน์ เปิดเผยว่า จากการนำชุดทดสอบหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร ไปใช้ตรวจจริงกับแม่สุกรที่ผ่านการผสมพันธุ์ ทั้งในฟาร์มสุกรในเมืองไทย และ ฟาร์มของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในประเทศสเปน พบว่า ชุดตรวจมีความแม่นยำมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับวิธีการทดสอบแบบ ELISA

ปัจจุบัน หลายบริษัทชั้นนำในธุรกิจฟาร์มสุกรยังได้นำชุดทดสอบนี้ไปใช้ในต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สเปน ยูเครน ฟิลิปปินส์ อินโดนิเชีย เวียดนาม เกาหลี และ จีน

“ในอนาคต ทีมวิจัยอยากจะขยายการตรวจทดสอบลักษณะนี้ ไปใช้กับสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เช่น แกะ และ แพะ หรือ แม้แต่สุนัข และ แมว” ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ โทร. 02-218-5136 , 02-218-5166 อีเมล qddcenter@gmail.com และ เว็บไซต์ https://cndc.tech/qdd

RANDOM

error: Content is protected !!