นศ.สถาปัตย์ มวล. สร้างชื่อ ซิวแชมป์ออกแบบวัสดุเหลือใช้ ระดับประเทศ จากผลงาน “INNOVATIVE SOFA SET”

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution ได้รับถ้วยพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

นายฐานันดร แซ่ตั้ง และ นายกีรติ ซี่โฮ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบภายใน สำนักสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เจ้าของผลงาน “INNOVATIVE SOFA SET” โดยมี อาจารย์ช่อทิพย์ สิงหมาตย์ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ “Transformation for Life” Upcycling Design Contest : Zero Waste Solution ได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท โดยมีนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 22 ทีม ส่งผลงานเข้าประกวด

นายฐานันดร แซ่ตั้ง กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบชิ้นงาน “INNOVATIVE SOFA SET” ว่า เกิดจากการนำโครงสร้างและวัสดุเหลือใช้ภายในพื้นที่นิทรรศการงานนวัตกรรม วิทย์พลิกโลก สัปดาห์วิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้ โรงไฟฟ้าขนอม ประจำปี 2565 มาใช้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพื่อการใช้งาน โดยได้นำเอาท่อเหล็กเหลี่ยมมาใช้ในการสร้างชุดโซฟา โต๊ะกาแฟที่ใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น กระเบื้องยาง และ แผ่นเหล็กโครง รวมถึง การนำผ้าขาวบาง และไวนิล มาเย็บติดกับผ้า และนำมาสาน คุณสมบัติของวัสดุ มีการยืดหยุ่นตามการใช้งาน เพื่อเป็นจุดพักคอยระหว่างโซนนิทรรศการของศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

“หลักสูตรการออกแบบภายใน ม.วลัยลักษณ์ เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ฝึกทักษะผ่านการปฏิบัติจากสถานที่จริง ซึ่งผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากกับการเข้าร่วมประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ขอขอบคุณคณาจารย์ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ที่คอยสนับสนุน คอยชี้แนะแนวทาง และหางานประกวดให้แก่นักศึกษา ได้ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และขอขอบคุณเพื่อน ๆ ที่คอยให้กำลังใจทุกคน” นายฐานันดร กล่าว

ทั้งนี้ การประกวดออกแบบวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แนวคิด “Transformation for Life” Upcycling Design Contest: Zero Waste Solution เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 เมื่อปลายปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของเศษวัสดุเหลือใช้ ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Upcycling) โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งเป็นการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste) และยังเป็นเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้มีเวทีในการพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือใช้ สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด โดยผลงานออกแบบของนักศึกษาจากทีมที่ชนะเลิศ จะถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงต่อไป ที่ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม

RANDOM

NEWS

อาจารย์วิศวฯ จุฬา เผย ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นพลังงานสะอาด ช่วยโลกลดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของประเทศ

error: Content is protected !!