ม.ขอนแก่น เจ๋ง ผุด AI แปลผลอายุร่างกายจากผลเลือด ‘Health AI’ หนุนศาสตร์ชะลอวัย ช่วยชะลอโรค

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน จากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย

ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical device) ชุดตรวจโรค (Lab diagnostics) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนชาวไทยและในระดับนานาชาติ เพื่อรองรับ medical hub ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้น โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน จากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือจากทีมนักวิจัยจากหลากหลายคณะ บูรณาการสร้างนวัตกรรมจากฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรแกรมนี้จะเป็นตัวช่วยให้บุคคลระมัดระวังเรื่องการพักผ่อน พฤติกรรมและการบริโภค โดยหวังว่าโปรแกรมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวมของประเทศได้

 

ด้าน ศาสตราจารย์พัชรี เจียรนัยกร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการดัชนีความเยาว์วัยของร่างกายแบบองค์รวมจากปัญญาประดิษฐ์ข้อมูลสุขภาพ เปิดเผยว่า การวิจัยเป็นการนำฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตสุขภาพ 7 8 9 10 โดยใช้ข้อมูลผู้มีสุขภาพดี 59,675 ชุด และฐานข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึกอีกประมาณ 3,000 ราย ข้อมูลที่เก็บใหม่จะมีการเก็บสมการพยากรณ์อายุชีวภาพจากความยาวเทโลเมียร์ หรือ ส่วนปลายของโคโมโซม เมื่อร่างกายเรามีการแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนปลาย หรือที่เรียกว่า เทโลเมียร์ จะมีการหดสั้นลง ในทุก ๆ รอบในการแบ่งตัว ผลการวิจัยพบว่า ค่าการตรวจผลเลือดมีสมการเกี่ยวเนื่องกับอายุที่เพิ่มขึ้นตามวัย เมื่อนำมาประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ สามารถประเมินอายุร่างกาย และอวัยวะสำคัญ 4 อวัยวะ ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ มีความแม่นยำ เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ร้อยละ 83.7 ในเพศหญิง และ 81.5 ในเพศชาย โปรแกรม Health AI จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลที่ได้จากผลตรวจเลือด ประมวลออกมาเป็นค่าอายุร่างกาย เช่น ผลทดสอบการทำงานของหัวใจ จะประมวลค่าไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว และไขมันดี ในโปรแกรมจะแสดงค่าผลเลือดความเสี่ยงการทำงานของหัวใจ ค่าปกติจะอยู่ที่สีเหลือง หรือ เขียว ยิ่งอยู่ไปทางสีแดง แปลว่า อันตรายต้องรีบปรึกษาแพทย์ อัลกอริทึมจะแปลคำแนะนำตามผลแลปที่ได้ในแต่ละบุคคล โดยมีเป้าหมายว่า ถ้าเราจะส่งเสริม ให้คนมีสุขภาพดี จึงทำให้ร่างกายใกล้เคียงกับอายุจริง หรือจะส่งเสริมให้ดีกว่านั้น คือ การชะลอวัย ทำให้อายุร่างกายอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเรา กระตุ้นเตือนให้ประชาชนใส่ใจรักสุขภาพมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายของโครงการ

ขณะที่ ศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า Health AI เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ยกระดับเป็นนวัตกรรมจนมาสู่การเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค โดย บพข. ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานของศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด (Center for Innovation and Standard for Medical Technology and Physical Therapy ; CISMaP) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 เครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ แผนงานสุขภาพและการแพทย์ บพข. มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) และเพิ่มทักษะ (Skills) ด้านการวิจัยจนถึงระบบมาตรฐานสากล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตและยกระดับสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน จากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare ได้เปิดข้อตกลงความร่วมมือรองรับการใช้งานในกลุ่มสถานบริการสุขภาพ/บริษัท health technology สถานประกอบการที่สนใจติดต่อผ่านฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คลิก https://innoprise.kku.ac.th/ รวมถึงการใช้งานรายบุคคลในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์

RANDOM

มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ เดินหน้าโรงเรียนต้นแบบอาหารและโภชนาการ S.M.A.R.T.S. Model school ในโครงการ “อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย ก้าวไกลสร้างชาติ” เสริมแกร่งโครงการอาหารกลางวันเด็กไทย โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สมัครด่วน! หมดเขต 31 ธ.ค. นี้

NEWS

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับทุนวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ (รอบที่ 3) ประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งข้อเสนอโครงการได้ ตั้งแต่บัดนี้–31 พ.ค. 67

error: Content is protected !!