มหิดลวิทยานุสรณ์ คว้าชนะเลิศ จากไอเดีย “AI ความปลอดภัยในไซต์ก่อสร้าง” ค่าย Creative AI Camp by CP ALL ปี 5

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“AI อยู่กับเรา ในทุกที่ ทุกเวลา” ไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา และการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับ เหล่า Tech Talent ระดับ ม.ปลาย อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1-2 ทั้ง 10 ทีม จากค่าย Creative AI Camp ครั้งที่ 5 จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ และพันธมิตร ซึ่งเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ ลงมือทำ ขยายขอบเขตความคิด และได้ร่วมกันสร้างสรรค์ชิ้นงาน AI เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่ดีกว่าขึ้นมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

สุดยอดผลงาน 3 อันดับแรกที่โดนใจคณะกรรมการนานาชาติ ทั้งไทย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน คว้ารางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน AI Ensure Worker Safety at Construction Site ซึ่งเป็นการนำ AI มาผสานการทำงานกับกล้อง CCTV ช่วยตรวจจับสถานการณ์เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของคนทำงานในไซต์ก่อสร้าง คว้ารางวัล 100,000 บาท ไปครอง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน AI Solving Traffic Jam ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก Pain Point ของการจราจรบนท้องถนนที่ติดขัด เนื่องจากการติดไฟแดงต่อเนื่องหลายนาที ในขณะที่ ไฟเขียวเพียงไม่กี่วินาที ทำให้การระบายรถทำได้ยาก รวมถึงปัญหาจากการปล่อยรถไม่สัมพันธ์กับจำนวนรถบนท้องถนน มีการปล่อยไฟเขียวต่อเนื่อง ในขณะที่บนถนนอาจไม่มีรถค้างอยู่แล้ว เยาวชนในทีมนี้ จึงได้นำ AI มาช่วยในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร โดยให้ AI เรียนรู้ข้อมูลการจราจรบนถนนเส้นนั้น ๆ และนำข้อมูลสภาพการจราจรจากกล้อง CCTV มาใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดเวลาการติดไฟแดงที่ไม่สมเหตุสมผลได้กว่า 70%

และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับ ผลงาน Parking Occupancy Detection นำระบบการประมวลผลด้วยภาพ (Image Processing) มาผสานกับกล้อง CCTV ใช้ตรวจจับพฤติกรรมการจอดรถของจุดจอดรถตามร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ทราบจำนวนของกลุ่มที่จอดนานกว่า 15 นาที กลุ่มที่จอดสั้นกว่า 15 นาที ช่วงเวลาที่ที่จอดรถเต็ม และจำนวนรถที่ไม่สามารถเข้าจอดได้ เนื่องจากที่จอดเต็ม แล้วนำไปประมวลผลสำหรับนำไปใช้วางแผนและบริหารจัดการในอนาคต

นางสาวนัสวรรณ รุ่งฤทธิเดช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตัวแทนทีมชนะเลิศ AI Ensure Worker Safety at Construction Site เล่าว่า ปัจจุบัน การก่อสร้างตามสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นพร้อมกัน การจะช่วยกันมอนิเตอร์ความปลอดภัยจากส่วนกลางให้ทั่วถึงตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น กรณีของการก่อสร้างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่สามารถมอนิเตอร์ความปลอดภัยของการก่อสร้างผ่านกล้อง CCTV ได้ราว 15% ของระยะเวลาการก่อสร้างทั้งหมดกว่า 450,000 ชั่วโมงต่อปี ทีมของเราจึงนำเสนอวิธีการนำ AI เข้าไปผนวกกับการทำงานของกล้อง CCTV เพื่อช่วยตรวจจับคนทำงานในไซต์ก่อสร้างที่ไม่สวมหมวกนิรภัย แล้วแจ้งเตือนเข้าไปยังกลุ่ม LINE ของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที โดยหากดำเนินการได้ คาดว่าจะช่วยประหยัดเวลาการมอนิเตอร์ของคนไปได้มากกว่า 50,000 ชั่วโมง และอาจขยายขอบเขตมากกว่าแค่การตรวจจับการใส่หมวกนิรภัย

ด้าน นายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการให้เหล่า Tech Talent รุ่นเยาว์ ได้เรียนรู้ทักษะทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นกว่า 2 เดือน ตลอดจนได้พูดคุยกับภาคธุรกิจที่เผชิญ Pain Point ในการทำงานโดยตรง ทำให้ผลงานของเยาวชนในปีนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานชนะเลิศที่ถือว่าโดดเด่น และมีโอกาสต่อยอดได้มาก เพราะคอนเซ็ปต์ “ตาวิเศษ” ของ AI ในไซต์ก่อสร้างนั้น อาจต่อยอดไปช่วยตรวจสอบอย่างอื่นได้เพิ่มเติม เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไซต์ การทะเลาะวิวาท การขโมยของ การทุจริต ฯลฯ

“ปัจจุบัน เราเห็นนวัตกรรม AI เข้ามาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น นวัตกรรมรถยนต์ขับเองได้ นวัตกรรมของ ChatGPT ต่อไป AI จะอยู่กับเราทุกที่ ทุกเวลา มีผลกระทบ และประยุกต์ใช้ได้กับทุกสายงาน ทุกสายอาชีพ เราจึงจะยังคงเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้าน AI ให้แก่เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศต่อไป” นายป๋วย กล่าว

สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้น ภายใต้ปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1-2 ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี AI เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต โดยการจัดงานในปีที่ 5 นี้ มีวิทยากรมากกว่า 20 ราย อาทิ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (National Cheng Kung University), มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS), สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM), ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากบริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, บริษัท เดอะซันเพล็กซ์เอ็นจิเนียร์ริ่งแอนด์ซอฟต์แวร์ จำกัด, บริษัท แอมเบี้ยน19 จำกัด, Botnoi Group และ Data Scientist จาก บริษัท AI ชั้นนำจากนานาประเทศ และพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีที่มาร่วมแสดงผลงาน เช่น บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น จำกัด, บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ยาสกาว่า อิเล็คทริก (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอบีบี โรโบติกส์ แมชชีน เทนดิ้ง จำกัด

RANDOM

error: Content is protected !!