“ฟีโบ้” เดินหน้าสร้างกำลังคน ด้าน “AI /Robotics” ป้อนตลาดแรงงานยุคใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงโครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน และพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ หรือ FIBO AI/Robotics for All ว่า เป็น 1 ในโครงการ ภายใต้ชุดโครงการ AI/Robotics for All ที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และ AI เพื่อขับเคลื่อนประเทศ สำหรับประเทศไทย เรื่อง AI และ Robotics ถือเป็นเรื่องใหม่ โครงการจึงมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย พนักงานบริษัท ไปจนถึงผู้ที่ต้องการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม (upskill) ให้มีความพร้อมกับการทำงานในโลกยุคใหม่ โดยการประยุกต์ AI และ วิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและภาคบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย และนำทักษะไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและประเทศ 

รศ. ดร.สยาม เจริญเสียง

“AI/Robotics ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนการควบคุม หรือขับเคลื่อน (Manipulation) ส่วนการรับรู้ (Perception) และส่วนการเข้าใจ (Cognition) ซึ่ง AI เป็นส่วนการเข้าใจของวิทยาการหุ่นยนต์ที่อยู่ในรูปแบบซอฟต์แวร์ เปรียบเสมือนเป็นสมองในการตัดสินใจ หลังจากได้รับข้อมูลจากส่วนการรับรู้ของระบบที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น ระยะทาง แรง หรือขนาดของวัตถุที่ตรวจพบ เมื่อส่วนการเข้าใจประมวลผลแล้ว จะสั่งการให้ส่วนการควบคุมขับเคลื่อนฮาร์ดแวร์กลไกทำงาน ดังนั้น AI และวิทยาการหุ่นยนต์ จึงเป็นเทคโนโลยีที่เสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ลองจินตนาการว่า ในยุค Aging Society โลกเรากำลังจะมีหุ่นยนต์ส่วนตัว หรือ Personal Robot (PR) เข้ามา เพื่อจะคอยให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุและพวกเราทุกคนในด้านต่าง ๆ ซึ่ง AI ก็จะทำให้ระบบหุ่นยนต์สามารถทำงานตัดสินใจ และตอบสนองงานที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ AI/Robotics เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น ทั้งในเรื่องงานบริการ งานสำรวจ งานการแพทย์ และงานด้านบันเทิง และยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ได้ถูกนำไปใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” รศ. ดร.สยาม กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ฟีโบ้ ได้สร้าง “แพลตฟอร์มและกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่อง AI/Robotics for All” ขึ้น อาทิ Virtual Classroom for Learning เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ผ่านห้องเรียนเสมือน Advanced Learning Lab / Resource Sharing เป็นแหล่งเรียนรู้และสามารถฝึกปฏิบัติด้านวิทยาการหุ่นยนต์และใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ด้วยระบบการควบคุมระยะไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ระบบการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับการพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ (Tele 3D Printing) มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 40 แห่ง และโปรแกรมจำลองการทำงานของโรงงานอัจฉริยะร่วมกับระบบจัดเรียงของระยะไกล (Metaverse Smart Factory) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้เข้ามาทดลองปฏิบัติ เพื่อประเมินระดับความรู้ความสามารถในการออกแบบ และเรียนรู้การควบคุมแขนกล การควบคุมสายพานการผลิต หรือที่เกี่ยวกับการผลิตต่าง ๆ จากระยะไกล โดยสามารถควบคุมได้เองจากที่บ้าน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมี System Integration Demonstration ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่การนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ School Consortium ปัจจุบันมีโรงเรียนที่สนใจนำหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้ในโรงเรียนระดับมัธยม เกิดเป็นเครือข่ายโรงเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึง Premium Training เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ 

ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้ ฟีโบ้ จะเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป โดยจะเดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้ “AI/Robotics for ALL” แก่คนในทุกระดับชั้น และจะผลักดันแพลตฟอร์มดังกล่าวที่ฟีโบ้พัฒนาขึ้น เข้าไปสู่ EEC ทั้งในระดับของโรงเรียน และภาคอุตสาหกรรม โดยจะเริ่มต้นจากกลุ่มโรงงานในพื้นที่ EEC ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ Facebook : fibokmutt 

ทั้งนี้ AI/Robotics for All เป็นชุดโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้าน AI และ Robotics เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่คนไทยในทุกระดับ ให้มีความรู้เท่าทัน หรือมีความสามารถด้าน AI และหุ่นยนต์ สร้างนักวิจัย และนักพัฒนาระบบ AI และหุ่นยนต์ เพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป รวมถึงส่งเสริมองค์กรให้นำ AI และหุ่นยนต์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 

 

 

RANDOM

error: Content is protected !!